10 มิถุนายน 2564

The Rooster crowing at Caiaphas palace :ไก่ขันที่ลานบ้านคายาฟาส โดย บัณฑิต ดาแว่น

 


คิดอย่างบัณฑิต

ข้อคิดจากอิสราเอล

The Rooster crowing at Caiaphas palace

 ไก่ขันที่ลานบ้านคายาฟาส

โดย บัณฑิต ดาแว่น

 

วันนี้จะพาย้อนกลับไปเยี่ยมบ้านคายาฟาส ฟังเสียงไก่ขันเตือนเปโตร และก็กลับมาเป็นสัญญาณเตือนชีวิตของตนเอง นะครับ

ท่ามกลางแสงแดดแผดเผา  คณะของเรายังเดินไปตามทาง มุ่งหน้าไปยังสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งที่พระเยซูถูกจับและนำมาเพื่อสอบสวนอย่างไม่เป็นธรรม(แม้ยามค่ำคืนยังไตร่สวน)คือ บ้านของมหาปุโรหิต คายาฟาส (Caiaphas) อยู่ใกล้กับบริเวณเขาพระวิหาร กรุงเยรูซาเล็ม ประเทศอิสราเอล ตามเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ประมาณ ปี ค.ศ. 33  ปัจจุบันเป็นวิหารที่ชื่อว่า Saint Peter in Gallicantu  (Gallicantu เป็นภาษาละตินแปลว่า เสียงไก่ขัน)  ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ระลึกถึงเหตุการณ์ที่เปโตรได้แอบติดตามพระเยซูระหว่างที่ทรงถูกควบคุมตัวจากสวนเก็ทเซมาเน ไปยังบ้านของมหาปุโรหิต เสียดายที่ไม่มีเวลาเข้าไปในวิหารแห่งนี้อย่างทั่วถึง ได้แต่เดินและยกกล้องถ่ายรูปถ่ายเก็บไว้เป็นที่ระลึกเท่านั้น (อ่านเรื่องราวเก็ทเซมาเน... https://bandhit.blogspot.com/2019/05/gethsemane.html )

ณ บริเวณลานบ้านของมาหปุโรหิตคายาฟาส  เปโตรลูกศิษย์คนสนิทของพระเยซูเป็นคนที่กล้าหาญชาญชัย ติดตามไปแม้จะเป็นแบบห่างๆ (ลูกา 22.54) แตกต่างจากลูกศิษย์คนอื่น ๆ  ที่ต่างหนีเอาตัวรอด ถึงขั้นบางคนบันทึกไว้ว่าหนีไปแต่ตัวล่อนจ้อน( มาระโก 14.50)  นายแพทย์ลูกาเรียบเรียงเรื่องราวตอนนี้ไว้ว่า เปโตรเดินเข้าไปท่ามกลางเหล่าแม่บ้าน ทหารยาม ที่กำลังก่อไฟผิงแก้หนาวบริเวณลานบ้าน อีกทั้งคอยรักษาการไปพร้อม ๆ กัน  เปโตรทำตัวเนียนเข้าไปผิงไฟด้วย จึงทำให้สาวใช้คนหนึ่งสังเกตเห็น และกระซิบกระซาบว่า “คนนี้อยู่กับคนนั้นด้วย”   คนนั้น หมายถึงพระเยซูที่ถูกจับและกำลังถูกนำเข้าไปข้างในบ้าน  เปโตรร้อนใจพูดออกไปว่า “แม่เอ๋ย คนนั้น ข้าไม่รู้จัก”  สักพักก็มีคนมายืนยันว่า “เจ้าเป็นคนในพวกนั้นด้วย”  เปโตรยังเสียงแข็งแบบสั่น ๆ ว่า ไม่ใช่ ๆ ...ผ่านไปประมาณชั่วโมงมีคนยืนยันอย่างแข็งขันอีกว่า  “เจ้าเป็นพวกคนนั้นแน่ ๆ เพราะเป็นชาวกาลิลีเหมือนกัน” อาจเป็นไปได้เมื่อพวกเขาได้ยินสำเนียงแบบชาวเหนือของคนกาลิลีของเปโตร ซึ่งพระเยซูก็เติบโตมาจากที่นั่น  ถึงตอนนี้เปโตรทนไม่ไหวอีกแล้ว จึงต้องปฏิเสธอย่างไม่มีเยื้อใยว่า “พ่อเอ๋ยที่ท่านว่านั้น ข้าไม่รู้เรื่อง”  ยังไม่ทันขาดคำ เสียงไก่ขันดังขึ้นมาสวนทันที  ตามที่พระเยซูพูดไว้กับเปโตรก่อนหน้าไม่กี่ชั่วโมง และย้ำความจริงที่สุดสะเทือนหัวใจเปโตรเป็นอย่างยิ่งคือ พระเยซูทรงเหลียวมาดูเปโตรด้วย จึงยิ่งทำให้เปโตรคิดขึ้นมาได้ชัดเจนที่พระองค์ตรัสว่า “วันนี้ก่อนไก่ขัน ท่านจะปฏิเสธเราสามครั้ง”  ซึ่งก่อนหน้านั้นเปโตรตอบกลับทันทีว่า “ผมพร้อมจะไปกับพระองค์ทุกที่ แม้จะต้องติดคุกหรือตายก็ยอม”  ด้วยเหตุนี้พระคัมภีร์บันทึกว่า เปโตรจึงออกไปข้างนอกและร้องไห้เป็นทุกข์อย่างหนัก (ลูกา 22.62)

นักเทศน์ นักสอนหลายคน (รวมผมด้วย) มักจะเน้นถึงความล้มเหลวของเปโตรในเหตุการณ์นี้  แต่ครั้งนี้อยากจะให้ได้เห็นอีกมุมมองว่า เปโตรเป็นคนที่กล้าหาญ และหาวิธีติดตามสอดส่องดูแลพระเยซูผู้เป็นพระอาจารย์อย่างไม่ละสายตา  ในขณะที่ลูกศิษย์คนอื่น ๆ ต่างหนีเอาตัวรอด ทั้ง ๆ ที่พวกเขาต่างยืนยันเป็นมั่นเป็นเหมาะพร้อมกับเปโตรเหมือนกันว่าจะไม่ทิ้ง ไม่หนี ไม่กลัว แม้จะมีอะไรเกิดขึ้นก็ตาม (มัทธิว 26 35) แต่สุดท้ายหลักฐานปรากฎชัดว่า เปโตรยังติดตามพระเยซูไป แม้จะเป็นอันตรายถึงชีวิตก็ตาม เพราะข้อกล่าวหาส่วนหนึ่งที่พระเยซูเจอคือ การเป็นกบฏต่อซีซาร์แห่งโรม โทษสถานเดียวคือ “ตาย” และอีกข้อกล่าวหาคือ การพูดหมิ่นประมาทพระเจ้าของชาวยิว โทษสถานเดียวคือถูกหินขว้างให้ตาย 

เปโตรแสดงให้เห็นแล้วว่าเขาทำอย่างที่พูดจริง ๆ คือ จะตามพระเยซูไปทุกที่ เพียงแต่สถานการณ์ไม่เอื้อ และสถานะของเขาไม่อาจที่จะทำได้อย่างที่คิด แต่เรายังเห็นความตั้งใจอย่างแน่วแน่ของเขาได้จากการกระทำครั้งนี้  ผมเชื่อว่าพระเยซูเข้าใจ และเห็นใจเปโตรอย่างที่สุด แต่พระองค์ทรงรู้แล้วว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้น ต่อมาเราพบว่าพระเยซูใช้เปโตรนี่แหละเป็นคนแรกที่พูดถึงการเป็นขึ้นมาจากความตายของพระเยซูต่อคนจำนวนมากจนกระทั่งมีคนอย่างน้อยสามพันยอมรับความจริงนี้ในวันเดียว (กิจการ 2) เปโตรเป็นผู้นำของบรรดาผู้เชื่อในช่วงเริ่มต้นอย่างไม่มีใครสงสัย

ดังนั้น ใครที่ชอบพูดว่า เปโตรขี้ขลาด เปโตรพูดไม่คิด เปโตรไม่ตามพระเยซูจริง ๆ ลองคิดดูใหม่อีกรอบนะครับ ว่าใครเป็นคนตามพระเยซูไปจริง ๆ  และถ้าเป็นตัวเราเองละ ในสถานการณ์คับขันนั้น ยังจะเข้าไปหาความเดือดร้อนใส่ตัว หรือ แอบหนีไปเอาตัวรอดดีละ !!

นักวิชาการพระคัมภีร์กล่าวว่า ยอห์น ลูกศิษย์คนสนิทอีกคนของพระเยซู น่าจะเป็นคนพาเปโตรเข้าไปในบริเวณลานบ้านมหาปุโรหิตคายาฟาส เพราะยอห์นรู้จักและมีความคุ้นเคยกับผู้คน จึงสามารถพาผ่านด่านตรวจเข้าไปได้ (อ้างอิงจาก ยอห์น 18.15-16  “สาวกคนนั้น”)

มหาปุโรหิต คายาฟาส  ท่านเป็นปุโรหิตประจำการตั้งแต่ ค.ศ. 14 – 36  โดยขึ้นตรงกับอำนาจของอาณาจักรโรม ปกติแล้วปุโรหิตของคนยิวเป็นหน้าที่ตลอดชีวิต แต่เมื่อบ้านเมืองตกอยู่ภายใต้การปกครองของต่างชาติจึงต้องถูกครอบงำจากผู้ครอบครอง  ปุโรหิตที่รู้รักษาตัวรอด จึงต้องปรับตัวให้กลมกลืนกับนักการเมืองทั้งฝ่ายคนยิวและโรมัน ต้องพยายามทำตามนโยบายให้ได้  อีกทั้งช่วงเวลานี้ยังมีผู้มีอิทธิพลเหนือ คายาฟาส คือ อันนาส พ่อตาของท่านนั่นเอง

อันนาส พ่อตาเคยเป็นมหาปุโรหิตก่อนหน้านั้น แต่ถูกปลดจากตำแหน่งเสียก่อน คายาฟาส ลูกเขยจึงได้ตำแหน่งแทน ถึงกระนั้น พ่อตา ยังมีอำนาจเหนือกว่า เพราะจากการกระทำของบรรดาผู้นำศาสนา พรรคฟาริสี ซึ่งเป็นคณะเดียวกันของทั้งสองท่าน พร้อมทั้งตัวแทนจากรัฐบาลโรม ยังส่งพระเยซูไปให้ อันนาส พิจารณาก่อนที่จะถูกส่งตัวมายัง คายาฟาส (ยอห์น 18.13)  เห็นมั้ยละครับ อำนาจของพ่อตายังมีมากว่ากว่าลูกเขย แม้จะหมดตำแหน่งแต่อิทธิพลยังอยู่นะ ดังนั้น (คิดเล่นๆ นะ) ... ดูนางใช่แต่จะดูที่แม่...(ยาย) แต่ควรดูถึงพ่อตาด้วยว่าเป็นเช่นไร...(ฮะ ฮะ ฮ่า)

การเดินทางวันนี้ ผมไม่ค่อยได้ตามติดมัคคุเทศก์ เพราะต่างคนต่างกระจายกันออกไป อีกทั้งสถานที่คับแคบ จึงต้องหาวิธีเดินไปตามสะดวก  จึงไม่ค่อยได้ยินคำอธิบายอย่างละเอียด เพียงแต่เข้าไปถ่ายรูปกับรูปปั้นบริเวณลานบ้านมหาปุโรหิต ที่เขาจำลองเหตุการณ์เปโตรเข้าไปผิงไฟร่วมกับทหารยามและสาวใช้    จากนั้นเราเดินเข้าไปในบ้านซึ่งมีหลายชั้น  เขาจำลองห้องใต้ดินที่ทำเป็นที่คุมขังนักโทษ  ประกอบกับเครื่องมือการลงโทษ อุปกรณ์การจองจำ และยังมีรูปปั้นจำลองการจองจำและการลงโทษพระเยซูไว้ด้วย สภาพหน้าตาของพระองค์แสดงความเจ็บปวด และถูกขังในห้องที่ทึบ ชื้น คับแคบ คล้ายในถ้ำ เพราะบ้านตั้งอยู่บนเนินเขาที่มีบางส่วนอยู่ใต้ดิน และอาจมีนักโทษคนอื่น ๆ อยู่ด้วย  พวกเราเข้าไปดูในบรรยากาศที่เขาติดแสงสีเสียง ดูเหมือนเพลินตา แต่ความจริงแล้ว มันเป็นสถานที่ทนทุกข์ทรมาน หากใครถูกยัดเข้าไปตรงนั้น คงเจ็บปวดทรมานอย่างมาก ผมเองยังรู้สึกหดหู่ขณะเดินไปและชมการจัดวางที่แสดงไว้ตรงหน้า แม้ไม่มีคำอธิบายก็ตาม

ตลอดชีวิตของเปโตร เมื่อได้ยินเสียงไก่ขัน คงรู้สึกเหมือนสัญญาณเตือนใจอยู่เสมอว่า คิดจะพูด จะทำอะไร ต้องพิจารณาให้ดีเสียก่อน และเมื่อพูดแล้ว ทำแล้ว ยังต้องรับผิดชอบตามนั้นด้วย  ซึ่งเปโตร เป็นคนนั้นที่ยืนยันแล้ว ต่อมาท่านเป็นผู้รับการยกย่องยิ่งกว่ามนุษย์คนหนึ่งจะได้รับด้วยซ้ำไป  ชื่อของท่าน เรื่องราวของท่าน คำเทศนาของท่าน และจดหมายที่ท่านเขียนไว้ (1-2 เปโตร)ยังจะถูกกล่าวถึงไปตราบชั่วกาลนาน

เมื่อเราอ่านเรื่องราวของเปโตร หลายครั้งมักมองในด้านความอ่อนแอ และความผิดพลาดของท่าน แต่แท้จริงแล้ว ท่านเป็นผู้ที่น่ายกย่อง และเป็นแบบอย่างที่ดีของผู้ติดตามพระเยซูคริสต์อย่างยิ่งใหญ่  มีใครที่เป็นคนสนิทพระเยซู มีใครที่สามารถพูดโต้ตอบกับพระองค์ได้อย่างคล่องแคล่ว มีใครที่พระเจ้าอนุญาตให้เดินบนน้ำทะเล มีใครที่เห็นการจำแลงพระกายของพระเยซู มีใครที่รู้ข่าววงในก่อน มีใครที่พระเยซูบอกว่าพระเจ้าเปิดเผยกับเขาเรื่องการเกิดขึ้นของคริสตจักร มีใครที่เทศนาแล้วมีคนกลับใจเป็นหลายพันคน มีใครที่พูดแล้วช่วยให้คนง่อยเดินได้ มีใครที่พูดแล้วการอัศจรรย์เกิดขึ้น หนึ่งในไม่กี่คนที่พระคัมภีร์บันทึกไว้คือ “เปโตร”  ที่พระเจ้าใช้ท่านให้กระทำการดังกล่าวเพื่อประกาศพระบารมีของพระองค์ผู้กระทำสิ่งสารพัดให้เกิดขึ้น

แล้วคุณละ ! เมื่อได้ยินเสียงไก่ขัน แล้วหันมามองชีวิตของตนเองอย่างไรบ้าง 

แม้เปโตรอาจทำผิดพลาด แต่ไม่ได้ขี้ขลาดในการทำเพื่อพระเยซู จริงมั้ยครับ !

-          หากคุณเป็นเปโตรในวันนั้น คุณจะตอบสนองต่อแต่ละเหตุการณ์อย่างไร

-          คุณคิดอย่างไร คนที่คิดว่าตนเองเป็นคนดี แต่ไม่มีการกระทำที่กล้าหาญ(อย่างชาญฉลาด)

ในสิ่งที่ถูกต้อง

-          คุณคิดอย่างไรต่อคนที่ได้แต่พูดว่าคนอื่นทำไม่ถูก แต่ตนเองก็ไม่ทำอะไรจริงจัง

 

ดังนั้น อย่ามองเห็นแต่จุดอ่อนของคนอื่น จนละเลยส่วนที่ดีที่มีคุณค่าของเขาไป 

มีใครเห็นด้วยบ้างครับ !




05 มิถุนายน 2564

Peter’s fish: ปลาเปโตร โดย บัณฑิต ดาแว่น

 

คิดอย่างบัณฑิต

ข้อคิดจากอิสราเอล


Peters fish:
ปลาเปโตร   โดย บัณฑิต  ดาแว่น

ปลานิลทอดประกบด้วยผักดองนิดๆ และน้ำจิ้ม  เป็นอาหารเที่ยงมื้อพิเศษ ระหว่างการเดินทางตามรอยพระคัมภีร์ที่อิสราเอล เมื่อพฤษภาคม ปี 2019  ทำให้คณะของเราร้อยกว่าชีวิต รู้สึกตื่นเต้น ผมเองกินด้วยความเอร็ดอร่อย ไม่รู้ว่าปลาที่ทะเลสาบกาลิลีอร่อย หรือ พ่อครัวเขาปรุงได้ดี หรือว่าเป็นเพราะหิวจนตาลาย !!  ไม่ว่าอะไรในเพลานี้ก็ต้องอร่อยเป็นแน่แท้ กว่าจะได้กินมื้อเที่ยงครั้งนี้ก็บ่ายสองกว่าๆแล้ว เพราะช่วงเช้าเดินทางจากที่พักไปยังล่องเรือโบราณที่ทะเลสาบกาลิลี ซึ่งเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่อยู่ทางตอนเหนือของอิสราเอล ทะเลแห่งนี้มีปลาชุกชุม มีเรื่องราวเกี่ยวกับองค์พระเยซูคริสต์และลูกศิษย์ของพระองค์ ตลอดจนประชาชนบริเวณรอบ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บันทึกไว้ในพระคัมภีร์พระกิตติคุณทั้งสี่เล่ม  ส่วนเรื่องราวประสบการณ์ล่องเรือที่กาลิลีนั้น ผมได้เขียนไว้บางประเด็นแล้วติดตามอ่านกันได้

( https://bandhit.blogspot.com/2020/05/take-galilees-boat-with-jesus.html) 

 ย้อนกลับไปทบทวนความรู้สึกในครั้งนั้นเกี่ยวกับอาหารมื้อพิเศษ  คือกว่าจะได้กินทำท้องไส้ปั่นป่วน เพราะนอกจากจะมาถึงเกินเวลาเที่ยงแล้ว ยังต้องรอคิวอาหารอีกสักพัก แต่ก็ไม่ได้ทำให้รูสึกแย่แต่ประการใด เพราะการมาครั้งแรกในสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้มีเรื่องที่ทำให้ตื่นเต้นเกินกว่าที่จะบ่นถึงเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ   ยิ่งระหว่างทางบนรถบัส มัคคุเทศก์คนขยันของเราก็มีพลังดีเหลือเกิน ยังอธิบายประวัติศาสตร์ของสถานที่ บุคคล และส่วนประกอบของเรื่องราวต่างๆ ไม่ขาดสาย เช่น อธิบายถึงการเทศนาบนภูเขาของพระเยซู ที่ทรงใช้เนินเขาแถบทะเลกาลิลีสั่งสอนประชาชนที่ติดตามนับหมื่นๆ คน แม้สมัยเมื่อ 2 พันปีก่อน ไม่ได้มีเครื่องขยายเสียง ไม่มีโปรเจ็คเตอร์ หรือเครื่องมือสื่อสารที่ฉับไวอย่างทุกวันนี้ แต่น่าอัศจรรย์คือ คำสอนของพระเยซูยังเป็นที่ประทับใจ จดจำ และส่งต่อมาถึงเราทุกวันนี้อย่างเที่ยงตรง  คำถามคือคนจำนวนมากอย่างนั้น สามารถได้ยินเสียงพระเยซูพูดได้อย่างไร รู้ได้อย่างไรว่าพระองค์จะเดินทางไปที่ไหน เมื่อไหร่  จากการสังเกตพบว่าสภาพพื้นที่ที่เป็นเนินคล้ายอัฒจรรย์ ของสนามกีฬา ประกอบกับมีโขดหิน หินลาดใหญ่ๆ อาจช่วยสะท้อนเสียง สามารถช่วยให้ได้มองเห็นและได้ยินไปไกล แต่ทั้งนี้คงไม่ใช่ทั้งหมื่นๆ คนได้ยินพร้อมกันทีเดียว เป็นไปได้ที่พระเยซูเล่าเรื่องให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งฟัง แล้วมีการส่งต่อเรื่องราวกันไป จากนั้นมีการสืบเสาะค้นหาข้อมูลและรวบรวมจนกลายมาเป็นบันทึกเรื่องราวในพระกิตติคุณของพระเยซู นายแพทย์ลูกา ผู้บันทึกพระกิตติคุณลูกายืนยันไว้เช่นนั้น (ลูกา 1.1-4) ส่วนมาระโก ชายหนุ่มผู้บันทึกพระกิตติคุณมาระโกที่มีความกระชับฉับไวเหมือนหนังจีนกำลังภายใน เขาได้รับข้อมูลมาจากอาจารย์เปโตรซึ่งเป็นลูกศิษย์ผู้ใกล้ชิดพระเยซู  มัทธิว เป็นผู้ติดตามด้วยตนเองประกอบกับมีความเข้าใจในธรรมเนียมยิวของตนเองจึงเขียนที่มาที่ไปของพระเยซูเป็นที่จับใจของคนยิว และยอห์น ก็เช่นกันเป็นลูกศิษย์ที่กล่าวว่าพระเยซูรักและไว้ใจมาก ได้บันทึกในอีกมุมมองที่ทำให้เราเข้าใจหลักคิดที่มีต่อพระเยซูแบบลึกซึ้ง(ยอห์น 1.1-14)  อย่างไรก็ตามหากมองในมุมของความเป็นพระเจ้าของพระเยซูแล้ว ไม่มีอะไรที่ยากเกินไปที่พระองค์จะทรงกระทำไม่ได้  คำสอน คำพูด เรื่องราวของพระเยซูจากวันนั้นเมื่อสองพันปีก่อนจนถึงวันนี้และตลอดไปจะยังคงอยู่และเป็นความจริงที่ช่วยให้คนได้ยินและเมื่อเชื่อก็จะเป็นอิสระจากสิ่งชั่วร้ายได้เสมอ

ได้ยินเสียงว่าปลานิลทอดกำลังจะมาถึงคิวผมแล้ว...

กลับมาเรื่องอาหารเที่ยงที่มีเพียงปลานิลทอดตัวเดียวบนจาน ที่ทำให้ผมหิวจนไม่รีรออะไรแล้ว หลังจากโมทนาพระคุณแล้วลงมือทันที จนลืมธรรมเนียมที่ควรปฏิบัติคือถ่ายรูปก่อนกิน !! ด้วยเหตุนั้นภาพที่ได้คือ จานข้าวของผมมีรอยถูกตักกินไปบ้างแล้ว (ไม่ว่ากันนะครับ มันหิวมากจริง ๆ) เมื่อกินเสร็จเขาตบท้ายด้วยผลอินทผลัมสดสองสามลูก ซึ่งนี่เป็นครั้งแรกที่ได้ลิ้มลอง คนท้องถิ่นเขาแนะนำว่าอินทผลัมสดจะช่วยลดกลิ่นคาวหลังกินปลาได้เป็นอย่างดี ผมเชื่อทุกอย่างละครับ ความรู้สึกหวานฉ่ำอมเปรี้ยวฝาดนิดๆ ของอินทผลัมสดทำให้ผมประทับใจมิรู้ลืม  ยิ่งบรรยากาศที่ร้านอาหารแห่งนี้ที่ชื่อว่า “Peters Restaurant” ทำให้นั่งกินไปพร้อมกับวิวทิวทัศน์ของทะเลกาลิลีที่อยู่ตรงหน้า ก็ทำให้รู้สึกถึงกลิ่นอายของพระเยซูคริสต์สถิตท่ามกลางชีวิตของเราได้มากขึ้น เพราะแถบบนี้พระเยซูใช้เวลาในการทำพระราชกิจมากเป็นพิเศษ ใครจะไปรู้พื้นดินที่เราเดินไปนั้นอาจเป็นรอยพระบาทเมื่อสองพันปีก่อนก็ได้  แม้ขณะที่เดินตามทางดินไปร้านอาหารมัคคุเทศก์ผู้มากความสามารถยังเดินไปหักกิ่งต้นหนามชนิดหนึ่ง คล้ายต้นพุทราบ้านเรา แต่หนามยาวกว่า พร้อมทั้งอธิบายว่าอาจเป็นต้นหนามชนิดเดียวกับที่ทหารโรมนำมาทำเป็นมงกุฎหนามสวมพระเศียรของพระเยซูจนเลือดไหลอาบลงมาในช่วงเวลาแห่งการทนทุกข์ก็เป็นได้ ว่าแล้วก็ส่งให้พวกเราเอามือไปแตะความแหลมคมของหนามนั้นดู ผมสังเกตว่าสุดท้ายท่านอาจารย์ ดร.วินิจ ได้นำหนามนั้นไปและเห็นท่านนำมาคุยกันต่อหลังจากขึ้นรถบัสอีกครั้ง  

หลังจากกินอย่างพอใจแล้วใครจะลงไปถ่ายรูปที่ชาดหาดของกาลิลีก็ตามอัธยาศัย ผมเองไม่พลาดเช่นกัน แถมยังเก็บก้อนหินบางก้อนที่เหมาะมือมาเป็นที่ระลึกด้วย แลกเปลี่ยนกันถ่ายรูปทั้งแบบเดี่ยว คู่ และหมู่อย่างชื่นใจทีเดียว

ขอบคุณพระเจ้าสำหรับ เปโตร (Peter) ลูกศิษย์ของพระเยซูคริสต์ที่ทำให้ผมได้มาย้อนรอยพระบาทในครั้งนี้ ได้กินอาหารมื้อพิเศษแม้ทางกายภาพจะเป็นเพียงแค่ปลานิลตัวหนึ่ง ที่ปัจจุบันนี้จะหากินที่ไหนก็ได้ในราคาถูกๆ  จากข้อมูลพบว่า ปลานิล เป็นอาหารที่ให้โปรตีนราคาประหยัดชั้นดีแก่คนไทย เพราะพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ได้รับปลาชนิดนี้เป็นของฝากพระสหายของท่านจากญี่ปุ่น เมื่อปี พ.ศ. 2508 ต่อมาได้ทรงขยายพันธุ์และแจกจ่ายไปยังประชาชนจนกลายเป็นปลาท้องถิ่นที่เหมาะสมกับคนไทยไปแล้ว  และการตั้งชื่อว่าปลานิล อาจมาจากแหล่งที่มาจากแม่น้ำไนล์และพ้องกับชื่อพระสหายที่ออกเสียง “นิน” คือสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ 

ปลานิลที่ผมกินวันนั้นมันยิ่งกว่าการกินอาหารปกติ เพราะกินด้วยใจขอบพระคุณในดินแดนแห่งพระสัญญาโดยพระคุณของพระเจ้าที่มีต่อชีวิตคนธรรมดาคนหนึ่งอย่างเช่นผม ที่ทรงเลือกสรรให้เป็นผู้รับใช้ของพระองค์ 

ท่านเปโตร หรือ Saint Peter ที่คนทั่วโลกต่างให้เกียรติท่านในฐานะผู้รับใช้ของพระเจ้า เป็นตัวอย่างหนึ่งที่มาจากชาวประมงธรรมดา หาเช้ากินเย็น ยังได้เป็นคนสนิทของพระเยซู เมื่อเขาตอบสนองการทรงเรียกอย่างแน่วแน่ เมื่อวันหนึ่งพระเยซูเสด็จมาที่เรือของเปโตร ขอใช้เรือเพื่อสั่งสอนประชาชน จากนั้นสั่งให้ออกไปจับปลา และได้ปลากลับมาอย่างล้นเหลือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นส่งผลให้เปโตรรู้ว่าพระเยซูเป็นองค์พระผู้ช่วยให้รอด แม้ไม่เข้าใจทั้งหมด แต่สิ่งที่เขาทำคือละเครื่องมือจับปลาแล้วติดตามพระเยซูไป จากผู้จับปลากลายมาเป็นผู้จับคนตามคำบัญชา ที่คนทั้งโลกยังจับใจในคำปราศรัยครั้งแรกของท่านที่เยรูซาเล็ม และช่วยให้ผู้คนสามพันคนยอมรับคำของพระเจ้าในวันเดียวได้  แม้เจ้าหน้าที่ของทางการยังประหลาดใจว่า คนพวกนี้เป็นเพียงคนสามัญแต่ทำไมพวกเขาจึงพูดได้ดีถึงเพียงนี้ คำตอบที่เขายอมรับและพูดมาเองคือ เพราะพวกเขาอยู่กับพระเยซูนั่นเอง 

แม้มีบางช่วงที่เปโตรเองมีความหวั่นไหวและอยากหนีไปให้ไกลจากเส้นทางของพระเยซู แต่สุดท้ายท่านเองยอมตายในรูปแบบถูกตรึงบนกางเขนแบบกลับหัวลงมา เพื่อจะไม่ให้เทียบเท่ากับพระอาจารย์ที่ถูกตรึงกางเขนเช่นกัน 

อะไรที่ทำให้คนธรรมดาคนหนึ่งที่การศึกษาน้อย ขาดทักษะการพูด แต่กลับเป็นคนที่พระเจ้าใช้ให้กล่าวถ้อยคำของพระองค์อย่างเกิดผลดี และยังเป็นที่ยอมรับของประชาชาติตลอดมา คำตอบมีในพระคัมภีร์ที่บันทึกเรื่องราวชีวิตของเปโตรไว้ ยิ่งย้ำชัดในพระกิตติคุณยอห์นบทที่ 21  ท่านยอห์น เพื่อนสนิทของเปโตรบันทึกไว้ว่า เปโตรได้ยืนยันถึงความจงรักภักดีของท่านต่อพระเยซูคริสต์หลังจากการเป็นขึ้นมาจากตายและปรากฎตัวให้พวกเขาได้เห็นก่อนเสด็จสู่สวรรค์   และท่านได้เล่าประสบการณ์นี้ให้มาระโกลูกศิษย์ของท่านบันทึกไว้ และท่านเองยังเขียนด้วยตนเองอีกสองฉบับ ถึงประสบการณ์และความเชื่อที่มีต่อพระเยซูคริสต์นั้นเป็นสิ่งที่ล้ำค่าต่อชีวิตอย่างแท้จริง

กินปลานิลมื้อเที่ยงเพียงมื้อเดียวในวันนั้น ยังสะท้อนถึงชีวิตจนถึงทุกวันนี้อยู่เสมอ ว่าพระเจ้าสามารถใช้ชีวิตของคนธรรมดา ที่อาสารับใช้พระองค์อย่างอัศจรรย์ได้

 การกินปลานอกจากมีคุณค่าทางโภชนาการต่อสุขภาพ ช่วยให้สมองดี มีกำลังที่แข็งแรงแล้ว ยังมีผลดีต่อชีวิตเมื่อคิดถึงความจริงของพระเยซูคริสต์ 

กินปลานิลทอด ราดน้ำจิ้มสามรส สักมื้อมั้ยครับ !