10 มิถุนายน 2564

The Rooster crowing at Caiaphas palace :ไก่ขันที่ลานบ้านคายาฟาส โดย บัณฑิต ดาแว่น

 


คิดอย่างบัณฑิต

ข้อคิดจากอิสราเอล

The Rooster crowing at Caiaphas palace

 ไก่ขันที่ลานบ้านคายาฟาส

โดย บัณฑิต ดาแว่น

 

วันนี้จะพาย้อนกลับไปเยี่ยมบ้านคายาฟาส ฟังเสียงไก่ขันเตือนเปโตร และก็กลับมาเป็นสัญญาณเตือนชีวิตของตนเอง นะครับ

ท่ามกลางแสงแดดแผดเผา  คณะของเรายังเดินไปตามทาง มุ่งหน้าไปยังสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งที่พระเยซูถูกจับและนำมาเพื่อสอบสวนอย่างไม่เป็นธรรม(แม้ยามค่ำคืนยังไตร่สวน)คือ บ้านของมหาปุโรหิต คายาฟาส (Caiaphas) อยู่ใกล้กับบริเวณเขาพระวิหาร กรุงเยรูซาเล็ม ประเทศอิสราเอล ตามเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ประมาณ ปี ค.ศ. 33  ปัจจุบันเป็นวิหารที่ชื่อว่า Saint Peter in Gallicantu  (Gallicantu เป็นภาษาละตินแปลว่า เสียงไก่ขัน)  ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ระลึกถึงเหตุการณ์ที่เปโตรได้แอบติดตามพระเยซูระหว่างที่ทรงถูกควบคุมตัวจากสวนเก็ทเซมาเน ไปยังบ้านของมหาปุโรหิต เสียดายที่ไม่มีเวลาเข้าไปในวิหารแห่งนี้อย่างทั่วถึง ได้แต่เดินและยกกล้องถ่ายรูปถ่ายเก็บไว้เป็นที่ระลึกเท่านั้น (อ่านเรื่องราวเก็ทเซมาเน... https://bandhit.blogspot.com/2019/05/gethsemane.html )

ณ บริเวณลานบ้านของมาหปุโรหิตคายาฟาส  เปโตรลูกศิษย์คนสนิทของพระเยซูเป็นคนที่กล้าหาญชาญชัย ติดตามไปแม้จะเป็นแบบห่างๆ (ลูกา 22.54) แตกต่างจากลูกศิษย์คนอื่น ๆ  ที่ต่างหนีเอาตัวรอด ถึงขั้นบางคนบันทึกไว้ว่าหนีไปแต่ตัวล่อนจ้อน( มาระโก 14.50)  นายแพทย์ลูกาเรียบเรียงเรื่องราวตอนนี้ไว้ว่า เปโตรเดินเข้าไปท่ามกลางเหล่าแม่บ้าน ทหารยาม ที่กำลังก่อไฟผิงแก้หนาวบริเวณลานบ้าน อีกทั้งคอยรักษาการไปพร้อม ๆ กัน  เปโตรทำตัวเนียนเข้าไปผิงไฟด้วย จึงทำให้สาวใช้คนหนึ่งสังเกตเห็น และกระซิบกระซาบว่า “คนนี้อยู่กับคนนั้นด้วย”   คนนั้น หมายถึงพระเยซูที่ถูกจับและกำลังถูกนำเข้าไปข้างในบ้าน  เปโตรร้อนใจพูดออกไปว่า “แม่เอ๋ย คนนั้น ข้าไม่รู้จัก”  สักพักก็มีคนมายืนยันว่า “เจ้าเป็นคนในพวกนั้นด้วย”  เปโตรยังเสียงแข็งแบบสั่น ๆ ว่า ไม่ใช่ ๆ ...ผ่านไปประมาณชั่วโมงมีคนยืนยันอย่างแข็งขันอีกว่า  “เจ้าเป็นพวกคนนั้นแน่ ๆ เพราะเป็นชาวกาลิลีเหมือนกัน” อาจเป็นไปได้เมื่อพวกเขาได้ยินสำเนียงแบบชาวเหนือของคนกาลิลีของเปโตร ซึ่งพระเยซูก็เติบโตมาจากที่นั่น  ถึงตอนนี้เปโตรทนไม่ไหวอีกแล้ว จึงต้องปฏิเสธอย่างไม่มีเยื้อใยว่า “พ่อเอ๋ยที่ท่านว่านั้น ข้าไม่รู้เรื่อง”  ยังไม่ทันขาดคำ เสียงไก่ขันดังขึ้นมาสวนทันที  ตามที่พระเยซูพูดไว้กับเปโตรก่อนหน้าไม่กี่ชั่วโมง และย้ำความจริงที่สุดสะเทือนหัวใจเปโตรเป็นอย่างยิ่งคือ พระเยซูทรงเหลียวมาดูเปโตรด้วย จึงยิ่งทำให้เปโตรคิดขึ้นมาได้ชัดเจนที่พระองค์ตรัสว่า “วันนี้ก่อนไก่ขัน ท่านจะปฏิเสธเราสามครั้ง”  ซึ่งก่อนหน้านั้นเปโตรตอบกลับทันทีว่า “ผมพร้อมจะไปกับพระองค์ทุกที่ แม้จะต้องติดคุกหรือตายก็ยอม”  ด้วยเหตุนี้พระคัมภีร์บันทึกว่า เปโตรจึงออกไปข้างนอกและร้องไห้เป็นทุกข์อย่างหนัก (ลูกา 22.62)

นักเทศน์ นักสอนหลายคน (รวมผมด้วย) มักจะเน้นถึงความล้มเหลวของเปโตรในเหตุการณ์นี้  แต่ครั้งนี้อยากจะให้ได้เห็นอีกมุมมองว่า เปโตรเป็นคนที่กล้าหาญ และหาวิธีติดตามสอดส่องดูแลพระเยซูผู้เป็นพระอาจารย์อย่างไม่ละสายตา  ในขณะที่ลูกศิษย์คนอื่น ๆ ต่างหนีเอาตัวรอด ทั้ง ๆ ที่พวกเขาต่างยืนยันเป็นมั่นเป็นเหมาะพร้อมกับเปโตรเหมือนกันว่าจะไม่ทิ้ง ไม่หนี ไม่กลัว แม้จะมีอะไรเกิดขึ้นก็ตาม (มัทธิว 26 35) แต่สุดท้ายหลักฐานปรากฎชัดว่า เปโตรยังติดตามพระเยซูไป แม้จะเป็นอันตรายถึงชีวิตก็ตาม เพราะข้อกล่าวหาส่วนหนึ่งที่พระเยซูเจอคือ การเป็นกบฏต่อซีซาร์แห่งโรม โทษสถานเดียวคือ “ตาย” และอีกข้อกล่าวหาคือ การพูดหมิ่นประมาทพระเจ้าของชาวยิว โทษสถานเดียวคือถูกหินขว้างให้ตาย 

เปโตรแสดงให้เห็นแล้วว่าเขาทำอย่างที่พูดจริง ๆ คือ จะตามพระเยซูไปทุกที่ เพียงแต่สถานการณ์ไม่เอื้อ และสถานะของเขาไม่อาจที่จะทำได้อย่างที่คิด แต่เรายังเห็นความตั้งใจอย่างแน่วแน่ของเขาได้จากการกระทำครั้งนี้  ผมเชื่อว่าพระเยซูเข้าใจ และเห็นใจเปโตรอย่างที่สุด แต่พระองค์ทรงรู้แล้วว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้น ต่อมาเราพบว่าพระเยซูใช้เปโตรนี่แหละเป็นคนแรกที่พูดถึงการเป็นขึ้นมาจากความตายของพระเยซูต่อคนจำนวนมากจนกระทั่งมีคนอย่างน้อยสามพันยอมรับความจริงนี้ในวันเดียว (กิจการ 2) เปโตรเป็นผู้นำของบรรดาผู้เชื่อในช่วงเริ่มต้นอย่างไม่มีใครสงสัย

ดังนั้น ใครที่ชอบพูดว่า เปโตรขี้ขลาด เปโตรพูดไม่คิด เปโตรไม่ตามพระเยซูจริง ๆ ลองคิดดูใหม่อีกรอบนะครับ ว่าใครเป็นคนตามพระเยซูไปจริง ๆ  และถ้าเป็นตัวเราเองละ ในสถานการณ์คับขันนั้น ยังจะเข้าไปหาความเดือดร้อนใส่ตัว หรือ แอบหนีไปเอาตัวรอดดีละ !!

นักวิชาการพระคัมภีร์กล่าวว่า ยอห์น ลูกศิษย์คนสนิทอีกคนของพระเยซู น่าจะเป็นคนพาเปโตรเข้าไปในบริเวณลานบ้านมหาปุโรหิตคายาฟาส เพราะยอห์นรู้จักและมีความคุ้นเคยกับผู้คน จึงสามารถพาผ่านด่านตรวจเข้าไปได้ (อ้างอิงจาก ยอห์น 18.15-16  “สาวกคนนั้น”)

มหาปุโรหิต คายาฟาส  ท่านเป็นปุโรหิตประจำการตั้งแต่ ค.ศ. 14 – 36  โดยขึ้นตรงกับอำนาจของอาณาจักรโรม ปกติแล้วปุโรหิตของคนยิวเป็นหน้าที่ตลอดชีวิต แต่เมื่อบ้านเมืองตกอยู่ภายใต้การปกครองของต่างชาติจึงต้องถูกครอบงำจากผู้ครอบครอง  ปุโรหิตที่รู้รักษาตัวรอด จึงต้องปรับตัวให้กลมกลืนกับนักการเมืองทั้งฝ่ายคนยิวและโรมัน ต้องพยายามทำตามนโยบายให้ได้  อีกทั้งช่วงเวลานี้ยังมีผู้มีอิทธิพลเหนือ คายาฟาส คือ อันนาส พ่อตาของท่านนั่นเอง

อันนาส พ่อตาเคยเป็นมหาปุโรหิตก่อนหน้านั้น แต่ถูกปลดจากตำแหน่งเสียก่อน คายาฟาส ลูกเขยจึงได้ตำแหน่งแทน ถึงกระนั้น พ่อตา ยังมีอำนาจเหนือกว่า เพราะจากการกระทำของบรรดาผู้นำศาสนา พรรคฟาริสี ซึ่งเป็นคณะเดียวกันของทั้งสองท่าน พร้อมทั้งตัวแทนจากรัฐบาลโรม ยังส่งพระเยซูไปให้ อันนาส พิจารณาก่อนที่จะถูกส่งตัวมายัง คายาฟาส (ยอห์น 18.13)  เห็นมั้ยละครับ อำนาจของพ่อตายังมีมากว่ากว่าลูกเขย แม้จะหมดตำแหน่งแต่อิทธิพลยังอยู่นะ ดังนั้น (คิดเล่นๆ นะ) ... ดูนางใช่แต่จะดูที่แม่...(ยาย) แต่ควรดูถึงพ่อตาด้วยว่าเป็นเช่นไร...(ฮะ ฮะ ฮ่า)

การเดินทางวันนี้ ผมไม่ค่อยได้ตามติดมัคคุเทศก์ เพราะต่างคนต่างกระจายกันออกไป อีกทั้งสถานที่คับแคบ จึงต้องหาวิธีเดินไปตามสะดวก  จึงไม่ค่อยได้ยินคำอธิบายอย่างละเอียด เพียงแต่เข้าไปถ่ายรูปกับรูปปั้นบริเวณลานบ้านมหาปุโรหิต ที่เขาจำลองเหตุการณ์เปโตรเข้าไปผิงไฟร่วมกับทหารยามและสาวใช้    จากนั้นเราเดินเข้าไปในบ้านซึ่งมีหลายชั้น  เขาจำลองห้องใต้ดินที่ทำเป็นที่คุมขังนักโทษ  ประกอบกับเครื่องมือการลงโทษ อุปกรณ์การจองจำ และยังมีรูปปั้นจำลองการจองจำและการลงโทษพระเยซูไว้ด้วย สภาพหน้าตาของพระองค์แสดงความเจ็บปวด และถูกขังในห้องที่ทึบ ชื้น คับแคบ คล้ายในถ้ำ เพราะบ้านตั้งอยู่บนเนินเขาที่มีบางส่วนอยู่ใต้ดิน และอาจมีนักโทษคนอื่น ๆ อยู่ด้วย  พวกเราเข้าไปดูในบรรยากาศที่เขาติดแสงสีเสียง ดูเหมือนเพลินตา แต่ความจริงแล้ว มันเป็นสถานที่ทนทุกข์ทรมาน หากใครถูกยัดเข้าไปตรงนั้น คงเจ็บปวดทรมานอย่างมาก ผมเองยังรู้สึกหดหู่ขณะเดินไปและชมการจัดวางที่แสดงไว้ตรงหน้า แม้ไม่มีคำอธิบายก็ตาม

ตลอดชีวิตของเปโตร เมื่อได้ยินเสียงไก่ขัน คงรู้สึกเหมือนสัญญาณเตือนใจอยู่เสมอว่า คิดจะพูด จะทำอะไร ต้องพิจารณาให้ดีเสียก่อน และเมื่อพูดแล้ว ทำแล้ว ยังต้องรับผิดชอบตามนั้นด้วย  ซึ่งเปโตร เป็นคนนั้นที่ยืนยันแล้ว ต่อมาท่านเป็นผู้รับการยกย่องยิ่งกว่ามนุษย์คนหนึ่งจะได้รับด้วยซ้ำไป  ชื่อของท่าน เรื่องราวของท่าน คำเทศนาของท่าน และจดหมายที่ท่านเขียนไว้ (1-2 เปโตร)ยังจะถูกกล่าวถึงไปตราบชั่วกาลนาน

เมื่อเราอ่านเรื่องราวของเปโตร หลายครั้งมักมองในด้านความอ่อนแอ และความผิดพลาดของท่าน แต่แท้จริงแล้ว ท่านเป็นผู้ที่น่ายกย่อง และเป็นแบบอย่างที่ดีของผู้ติดตามพระเยซูคริสต์อย่างยิ่งใหญ่  มีใครที่เป็นคนสนิทพระเยซู มีใครที่สามารถพูดโต้ตอบกับพระองค์ได้อย่างคล่องแคล่ว มีใครที่พระเจ้าอนุญาตให้เดินบนน้ำทะเล มีใครที่เห็นการจำแลงพระกายของพระเยซู มีใครที่รู้ข่าววงในก่อน มีใครที่พระเยซูบอกว่าพระเจ้าเปิดเผยกับเขาเรื่องการเกิดขึ้นของคริสตจักร มีใครที่เทศนาแล้วมีคนกลับใจเป็นหลายพันคน มีใครที่พูดแล้วช่วยให้คนง่อยเดินได้ มีใครที่พูดแล้วการอัศจรรย์เกิดขึ้น หนึ่งในไม่กี่คนที่พระคัมภีร์บันทึกไว้คือ “เปโตร”  ที่พระเจ้าใช้ท่านให้กระทำการดังกล่าวเพื่อประกาศพระบารมีของพระองค์ผู้กระทำสิ่งสารพัดให้เกิดขึ้น

แล้วคุณละ ! เมื่อได้ยินเสียงไก่ขัน แล้วหันมามองชีวิตของตนเองอย่างไรบ้าง 

แม้เปโตรอาจทำผิดพลาด แต่ไม่ได้ขี้ขลาดในการทำเพื่อพระเยซู จริงมั้ยครับ !

-          หากคุณเป็นเปโตรในวันนั้น คุณจะตอบสนองต่อแต่ละเหตุการณ์อย่างไร

-          คุณคิดอย่างไร คนที่คิดว่าตนเองเป็นคนดี แต่ไม่มีการกระทำที่กล้าหาญ(อย่างชาญฉลาด)

ในสิ่งที่ถูกต้อง

-          คุณคิดอย่างไรต่อคนที่ได้แต่พูดว่าคนอื่นทำไม่ถูก แต่ตนเองก็ไม่ทำอะไรจริงจัง

 

ดังนั้น อย่ามองเห็นแต่จุดอ่อนของคนอื่น จนละเลยส่วนที่ดีที่มีคุณค่าของเขาไป 

มีใครเห็นด้วยบ้างครับ !