08 กรกฎาคม 2564

Caesarea : ซีซารียา เมืองท่าแห่งเมดิเตอร์เรเนียน โดย บัณฑิต ดาแว่น

 

คิดอย่างบัณฑิต

ข้อคิดจากอิสราเอล

Caesarea : ซีซารียา  เมืองท่าแห่งเมดิเตอร์เรเนียน

โดย บัณฑิต ดาแว่น

ก่อนเดินทางกลับจากการเดินตามรอยพระคัมภีร์ที่อิสราเอลร่วมกับคณะผู้นำคริสตจักรแบ๊บติสต์ 4-10 พฤษภาคม 2019  ผู้นำทัวร์นำพวกเราไปรับประทานอาหารในภัตตาคารที่สวยงามระดับตำนาน  ทั้งยังเป็นการย้อนประวัติศาสตร์ คือ เมืองซีซารียา(Caesarea) ริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียน (Mediterranean) หรือที่เรียกอีกชื่อว่า ทะเลใหญ่  ถือว่าเป็นอาหารมื้อพิเศษที่ประทับใจมาก ๆ หลังจากเดินทางเหน็ดเหนื่อยจากการไปเยือนหลายพื้นที่  อาหารที่นี่เป็นแบบเมดิเตอร์เรเนียน คือ การผสมผสานระหว่างตะวันออกกลางและโรมัน เป็นเมืองท่าที่สวยงาม ถูกสร้างขึ้นมาอย่างตระการตาโดยกษัตริย์เฮโรดผู้ยิ่งใหญ่ (ก.ค.ศ. 30-4)ตั้งใจสร้างเมืองนี้เป็นราชวังของพระองค์ และเพื่อเป็นเกียรติแด่ออกัสตัส ซีซาร์ จักรพรรดิแห่งโรม ด้วยเหตุนั้นชื่อ ซีซารียา จึงมาจาก ซีซาร์ นั่นเอง 

ผมใช้เวลาเก็บความทรงจำด้วยภาพไปรอบ ๆ ที่ประกอบด้วย โคโลเซี่ยม สนามกีฬาและโรงมโหรสพขนาดความจุ 4,000 คน  ราชวังเฮโรด ห้องอาบน้ำ บ้านพักรับรองผู้นำจากโรม และท่าเรือ ซึ่งถูกสร้างขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ในรูปแบบของชาวโรมัน หรือนักวิชาการบางคนเรียกว่า สไตน์ไบแซนไทน์ (Byzantine)  เมืองซีซารียามีความเป็นมาที่ยาวนาน ผ่านการครอบครองจากกลุ่มคนหลายยุคสมัย ก่อนจะตกมาอยู่ใต้อำนาจของจักรวรรดิโรมัน และใช้เป็นศูนย์ราชการในการปกครองอาณาจักรยูดาห์  โดยแต่งตั้งกษัตริย์ของคนยิวและมีผู้ว่าราชการจากโรมผลัดเปลี่ยนกันมาปกครอง

            ซีซารียา สถานที่แห่งนี้ มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องราวของพระเยซูคริสต์ เช่น กษัตริย์เฮโรดมหาราช ( Herod the Great)ซึ่งเป็นผู้สร้างพระวิหารหลังที่สองที่เยรูซาเล็มเพื่อเอาใจคนยิว และสร้างเมืองซีซารียาเพื่อเอาใจจักรพรรดิโรมัน  เขาเป็นผู้สั่งให้ประหารทารกชายตั้งแต่ 2 ขวบลงมา หลังจากผิดหวังกับเหล่าโหราจารย์ที่ไม่ยอมกลับมาบอกกว่า พระกุมารที่เกิดมาเพื่อเป็นกษัตริย์ของยิวนั้นอยู่ที่ไหน เพราะพวกเขารู้ว่าเป็นแผนการณ์ร้ายของเฮโรด หลังจากสิ้นสมัยเฮโรดมหาราชแล้ว ยังมีรุ่นหลานที่ขึ้นมาครอบครองอาณาจักรยูดาห์ต่อมา  ซึ่งล้วนแต่เป็นกษัตริย์ที่โหดเหี้ยมและพยายามเอาใจทั้งคนยิวและโรมันเพื่อผลประโยชน์ของตนเองเรื่อยมา 

เฮโรด อันทิพาส คือ ผู้สั่งตัดศรีษะยอห์นผู้ให้บัพติศมา(มัทธิว 14.3.12) และได้ไต่สวนพระเยซูด้วยความอยากรู้อยากเห็นว่าพระองค์เป็นใคร (ลูกา 23.6-12)

เฮโรด อากริปาที่ 1 ผู้สั่งประหารอัครทูตยากอบ (มัทธิว 4.21)เพื่อหวังจะยุติข่าวการเป็นขึ้นมาจากความตายของพระเยซู สุดท้ายก็ต้องตายอย่างอนาจเมื่อเกิดความเย่อหยิ่งจนสำคัญว่าตนเองเป็นเทพเจ้า (กิจการ 12)  ส่วนเฮโรด อากริปาที่ 2 ลูกคนสุดท้ายของพระนางเฮโรเดียส เป็นผู้มีส่วนแสวงหาประโยชน์จากกรณีการถูกล่าวหาจากผู้นำศาสนาของชาวยิว นอกจากนั้นยังเป็นผู้ที่เอาน้องสาวต่างมารดามาเป็นภรรยา(เบอร์นิส)ซึ่งเป็นที่ครหาของผู้คนในเวลานั้นแต่เขาก็ไม่สนใจ

            กล่าวถึง ออกัสตัส ซีซาร์ (ก.ค.ศ. 63- ค.ศ.14) เป็นผู้ที่ประกาศกฤษฎีกาให้ประชาชนทั่วแผ่นดินต้องไปจดทะเบียนสำมโนครัวยังบ้านเกิดเมืองนอน นั่นคือส่วนหนึ่งที่เป็นเหตุให้โยเซฟและมารีย์ที่กำลังท้องแก่ต้องเดินทางจากนาซาเร็ธลงมายังยูเดียและได้มาคลอดพระกุมารเยซูที่บ้านเบธเลเฮมตามที่พระคัมภีร์บันทึกไว้ (ลูกา 1.1-7) ออกัสตัส ถือว่าเป็นผู้เริ่มต้นตั้งตนเองว่า “ซีซาร์” โดยให้ผู้คนยกย่องว่า “ซีซาร์จงเจริญ” จึงกลายเป็นที่มาของตำแหน่ง ซีซาร์แห่งจักรวรรดิโรมต่อมา

            เรื่องราวเมืองซีซารียา ที่ปรากฏในพระคัมภีร์เกี่ยวกับชีวิตอัครทูตเปโตร ตามที่นายแพทย์ลูกา บันทึกไว้ในกิจการบทที่ 10 ช่วยให้เราได้รู้จักนายทหารของโรมคนหนึ่ง คือ นายร้อย โครเนลิอัส ซึ่งอาศัยอยู่ที่เมืองซีซารียา ท่านผู้มีความศรัทธาในพระเจ้าของคนยิวคอยให้การสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนในยูเดียและเฝ้าอธิษฐานอยู่เสมอ พระเจ้าส่งทูตสวรรค์มาแจ้งให้ท่านทราบว่าทรงได้ยินคำอธิษฐานของท่านแล้วและสั่งให้ไปหาคนที่ชื่อเปโตร  เราไม่รู้ว่านายร้อยโครเนลิอัสอธิษฐานว่าอย่างไร แต่สิ่งที่พบคือพระเจ้าทรงสำแดงแก่เปโตรขณะที่พักอยู่ที่เมืองยัพฟา ซึ่งอยู่แถบชายทะเลเมดิเตอร์เรเนียนถัดซีซารียาไปทางเหนือ 48 กิโลเมตรคือประมาณ 1-2 วันเดินเท้า พระเจ้าให้เปโตรติดตามคนที่โครเนลิอัสใช้ให้ไปหา ทั้ง ๆ ที่ก่อนนั้นเปโตรไม่เข้าใจเรื่องที่พระเจ้าสำแดง คือ ในนิมิตที่สั่งให้เปโตรกินเนื้อสัตว์ที่ชาวยิวถือว่าเป็นมลทิน แต่ด้วยรับสั่งถึงสามครั้งจึงไม่อาจปฏิเสธได้ จนกระทั่งมีคนมาเรียก เปโตรจึงเริ่มเข้าใจ และเมื่อไปถึงบ้านโครเนลิอัสที่รออยู่ทั้งครอบครัวพร้อมทั้งเพื่อนๆ ญาติพี่น้องและคนงานของเขา เปโตรได้อธิบายถึงความจริงเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ที่ตายเพื่อเป็นค่าไถ่บาปแก่มวลมนุษย์และทรงเป็นขึ้นจากความตาย ระหว่างนั้นพระวิญญาณบริสุทธิ์เสด็จมาท่ามกลางเขาทั้งหลายแสดงว่าได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งในพระเยซูแล้ว  จากเหตุการณ์นี้ทำให้เปโตรเข้าใจถึงการสำแดงเกี่ยวกับสัตว์ที่ถือว่าเป็นมลทินนั้น คือเพื่อให้เขาประกาศข่าวประเสริฐของพระเยซูต่อคนต่างชาติซึ่งต่อจากนี้พระเจ้าถือว่าไม่มีอะไรเป็นมลทินแล้วหากเขาได้มาเชื่อ

อาจารย์เปาโล ถูกจับและถูกส่งตัวมากักขังที่ซีซารียาถึง 2 ปี คือประมาณปี ค.ศ. 60-62 (กิจการ 24.27)ก่อนที่จะถูกส่งไปยังโรมตามการถวายฎีกาถึงซีซาร์  ระหว่างที่รอการส่งตัวเปาโลถูกสอบสวนหลายรอบ ผู้นำศาสนายิวส่งทนายไปฟ้องต่อหน้าผู้ว่าการเฟลิกส์ (กิจการ 24.1-9) และพบว่าไม่มีมูลความจริง แต่เฟลิกส์ยังปล่อยเปาโลไว้ในคุกจนพ้นวาระ และผู้ว่าเฟสทัส (กิจการ 25) มาแทนก็ยังไม่สามารถตัดสินใจได้ เพราะยังต้องการเอาใจพวกยิวในฐานะที่มารับตำแหน่งใหม่ เปาโลยังต้องให้การต่อหน้ากษัตริย์เฮโรด อากริปาที่ 2 ซึ่งเดินทางมาเพื่อต้อนรับผู้ว่าคนใหม่ด้วย (กิจการ 26) แต่สุดท้ายก็ถูกส่งไปยังโรมตามฎีกา เพราะตามกฎหมายโรมันถือว่าเมื่อมีการถวายฎีกาถึงซีซาร์แล้ว ทางการยูเดียและผู้ว่าการจากโรมก็ไม่สามารถตัดสินคดีได้ ต้องส่งไปถึงซีซาร์เท่านั้น

            ผู้นำทัวร์นำเราไปยังโรงละครที่สร้างตามระดับของภูเขาทำเป็นชั้นอัฒจันทร์อย่างสวยงามและแข็งแกร่ง กล่าวว่าสถานที่แห่งนี้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของชนชั้นสูงของโรมที่มาราชการที่ยูเดียและผู้ปกครองของคนยิวที่มาเสวยสุขที่นี่ นอกจากนั้นยังเป็นสถานที่บันเทิงเริงรมย์ ใช้เป็นที่ต่อสู้ระหว่างคนกับสิงโต คริสเตียนหลายคนถูกจับและให้มาเป็นเหยื่อสิงโต  โรงละครแห่งนี้ยังได้รับการบูรณะและใช้เป็นที่จัดกิจกรรมของศิลปินและงานแสดงต่าง ๆ มาจนถึงทุกวันนี้  ผมและคณะมีโอกาสนั่งที่นี่และซึมซับบรรยากาศจากอดีต โดยมีบางท่านออกไปเล่าประสบการณ์ชีวิต  จากนั้นคณะทัวร์ได้มอบเกียรติบัตรการมาเยือนอิสราเอลให้แก่พวกเราเป็นที่ระลึกด้วย

            เมืองท่าซีซารียา  นำมาซึ่งความประทับใจ ทั้งอาหารที่อร่อย บรรยากาศที่สวยงาม ท้องทะเลที่สดใส  ยังจะจำฝังใจไปตราบนานเท่านาน