29 ธันวาคม 2562

การประเมินผล - Evaluation โดย บัณฑิต ดาแว่น


คิดอย่างบัณฑิต
การประเมินผล - Evaluation
โดย  บัณฑิต  ดาแว่น  

การประเมินผล  เป็นกระบวนการหนึ่งในการบริหาร  หากขาดการประเมินผล ย่อมสุ่มเสี่ยงที่จะผิดพลาด ทั้งการผิดพลาดเรื่องใหม่ และผิดพลาดซ้ำรอยเดิม (อย่างไม่จำเป็น)  การประเมินผลยังมีความจำเป็น เพราะจะช่วยให้การดำเนินงานบรรลุวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
จะประเมินผลอย่างไรจึงจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่องานและคนทำงาน ?  ในทางวิชาการมีเครื่องมือหลายอย่างที่ช่วยให้การประเมินผลเป็นไปอย่างมีทิศทาง ซึ่งขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละองค์กร แต่ละสถานการณ์ ที่จะนำเครื่องมือการประเมินผลมาใช้
การทำพันธกิจของพระเจ้า จำเป็นต้องมีเครื่องมือที่เหมาะสมมาใช้ประเมินผลเช่นกัน เพื่อจะช่วยให้บรรลุตามนิมิต วัตถุประสงค์อย่างสูงสุด  โดยไม่ส่งผลร้ายกระทบต่อทั้งคนและงานโดยไม่จำเป็น  อันเนื่องมาจากการประเมินผลที่ไม่เหมาะสม  เช่น หลายครั้งมุ่งประเมินเฉพาะผลของการดำเนินงานด้านปริมาณ โดยนับจำนวนผู้เชื่อเป็นหลัก จึงไปกดดันคนทำงาน(ผู้รับใช้) และด่วนสรุปว่าผู้รับใช้ทำงานไม่เกิดผล ทำให้เกิดความท้อใจ ทำให้หลายคนหยุด เลิก ลาออก หรือหมดไฟไปเลย  หรือไม่ก็ประเมินแบบสุดโต่งโดยโยนทุกอย่างไปที่การขัดขวางของมาร โดยไม่สนใจรายละเอียดอย่างแท้จริง เป็นต้น
ขอเสนอแนวคิดเพื่อประเมินผลการรับใช้ในพันธกิจของพระเจ้า  โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธกิจคริสตจักร องค์กร หน่วยงาน หรือโครงการพันธกิจต่างๆ   
ควรมีหลักการประเมินผลห้าด้าน ได้แก่  หนึ่ง ด้านวัตถุประสงค์ของพันธกิจ   สอง ด้านวิธีการดำเนินงาน  สาม ด้านพื้นที่  สี่ ด้านผู้ปฏิบัติงาน  และ ห้า ด้านสงครามฝ่ายวิญญาณ
1.  ด้านวัตถุประสงค์ของพันธกิจ  
การประเมินผลโดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง  เพราะวัตถุประสงค์เป็นตัวชี้วัดถึงสิ่งที่ต้องการตั้งแต่เริ่มต้น  สำหรับพันธกิจของพระเจ้าอาจเปรียบเหมือนนิมิต เป้าหมาย นั่นเอง  ทั้งนี้จะต้องมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน  เจาะจง สามารถวัดได้ ปฏิบัติได้ และให้เวลาที่เหมาะสมตั้งแต่เริ่มต้นเสียก่อนจึงจะนำมาเป็นประเด็นในการประเมินผลพันธกิจ  เปรียบเสมือนการยิงธนูที่มีเป้าหมายอยู่ก่อนแล้ว ไม่ใช่ยิงออกไปแล้วค่อยวาดเป้าหมายทีหลัง  เช่น  มีวัตถุประสงค์ประกาศข่าวประเสริฐโดยการแจกใบปลิวในเขตอำเภอเมืองทุกสัปดาห์ภายในปี 2019  ก็จะสามารถประเมินผลออกมาได้ว่า ผู้รับผิดชอบได้ทำตามวัตถุประสงค์หรือไม่และมีผลลัพธ์อย่างไร
จำเป็นต้องดูเบื้องต้นก่อนว่าได้ประเมินผลงานตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่ และอาจดูต่อไปได้ว่า มีวัตถุประสงค์ มีนิมิตที่ชัดเจนหรือไม่ เพราะหากไม่มีทิศทางคงไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดผลกระทบอะไรบ้าง  มักจะนำไปสู่ความล้มเหลวมากกว่า ดังพระคัมภีร์ที่สอนว่า.. ที่ไหนที่ไม่มีการนำประชาชนก็ล้มลง   แต่ในที่ซึ่งมีที่ปรึกษามากย่อมมีความปลอดภัย (สุภาษิต 11.14,29.18)
ส่วนข้าพเจ้าวิ่งแข่งโดยมีเป้าหมาย   ข้าพเจ้ามิได้ต่อสู้อย่างนักมวยที่ชกลม (1โครินธ์ 9.26)
2. ด้านวิธีการดำเนินงาน 
หากวัตถุประสงค์ดี แต่วิธีการดำเนินงานไม่เหมาะก็ส่งผลให้งานนั้นล้มเหลวได้เช่นกัน  ดังนั้น นอกจากดูวัตถุประสงค์ ดูนิมิต เป้าหมายของหน่วยงานต้นสังกัดและผู้ปฏิบัติงานว่าสอดคล้องกันแล้ว  ยังต้องประเมินผลด้านวิธีการทำงานว่าเหมาะสมกับเป้าหมาย ลักษณะงาน พื้นที่หรือลักษณะกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งยังต้องวิเคราะห์ว่าวิธีการดังกล่าวเหมาะกับผู้ปฏิบัติงาน หรือแนวทางฝ่ายวิญาณหรือไม่เพียงใด  เช่น  หากต้องการแจกใบปลิวในพื้นที่ชนบทจำเป็นต้องสำรวจให้แน่ใจว่าจำนวนคนที่อ่านหนังสือออกมีเท่าไหร่ หรือหากจะแจกสื่อภาพและเสียง ก็ต้องทราบว่ามีเครื่องที่จะเปิดรับสื่อนั้นได้หรือไม่ หรือแม้แต่จะกระจายเสียงวิทยุ แพร่ภาพทางโทรทัศน์ ช่วงเวลาใด กับกลุ่มคนประเภทไหน ด้วยข้อมูล และวิธีการรูปแบบใด ยังต้องคำนึงถึงในทุกด้าน มิฉะนั้นข่าวสารที่นำเสนอออกไปจะเป็นเพียงการสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์
การกำหนดวิธีการที่เหมาะสม เปรียบเสมือนการเกาให้ถูกที่คัน แก้ไขปัญหาอย่างถูกจุด  ไม่ใช่เหมือนคนที่หาลูกกุญแจในที่สว่าง ทั้งที่มันหล่นอีกที่หนึ่งซึ่งมืดกว่า อย่างนี้หาเท่าไหร่คงไม่เจอ พระคัมภีร์สอนไว้ว่า...หากขวานทื่อแล้ว จะต้องใช้แรงมาก ซึ่งหมายถึงใช้วิธีการที่ไม่เหมาะสม ทำให้เสียแรงและนำไปสู่ความล้มเหลว  แต่หากคิดให้ดี ลับให้ขวานคมก็จะเบาแรงและนำไปสู่ความสำเร็จได้
            ถ้าขวานทื่อแล้ว  และเขาไม่ลับให้คม    เขาก็ต้องออกแรงมาก  
                แต่สติปัญญาจะช่วยให้บรรลุความสำเร็จ
  
(ปัญญาจารย์ 10.10)
อาจารย์เปาโลเป็นต้นแบบที่ดีในการรู้จักปรับตัวให้เหมาะสมกับคนแต่ละประเภท เพื่อจะช่วยเขาให้รู้จักพระเจ้า (1โครินธ์ 9.19-23) ท่านได้แนะนำว่า  จงปฏิบัติกับคนภายนอกด้วยใช้สติปัญญา   โดยฉวยโอกาส จงให้วาจาของท่านประกอบด้วยเมตตาคุณเสมอ   ปรุงด้วยเกลือให้มีรส   เพื่อท่านจะได้รู้จักตอบให้จุใจแก่ทุกคน (โคโลสี 4.5-6)
ดังนั้น ประเมินดูว่าวิธีการที่ใช้อยู่นั้นเหมาะสมหรือไม่ เพื่อจะมีการปรับเปลี่ยนอย่างเหมาะสมต่อไป
3.  ด้านพื้นที่
 พื้นที่การดำเนินงาน เป็นอีกด้านที่มีความสำคัญต่อการทำงานและการประเมินผล เพราะลักษณะของพื้นที่ที่ต่างกัน แม้จะใช้วัตถุประสงค์ วิธีการ หรือ คนทำงาน ใช้เวลา ทรัพยากรเหมือนกัน แต่อาจได้ผลลัพธ์ที่ต่างกัน   จึงไม่อาจเหมารวมว่าการทำงานนั้นไม่เกิดผล หากยังไม่ได้ประเมินด้านพื้นที่ ทำเลการดำเนินงานด้วย  พื้นที่ในเมืองใหญ่ย่อมแตกต่างจากชนบท  ทั้งด้านขนาดพื้นที่ สภาพแวดล้อม ภูมิประเทศ ลักษณะประชากร ทั้ง เพศ วัย การศึกษา ความเชื่อ อาชีพ รายได้ เป็นต้น           
คำอุปมาเรื่องการหว่านพืชที่ตกลงบนดินสี่ประเภท(มัทธิว 13.1-9,18-23) เป็นตัวอย่างที่ดีที่อธิบายลักษณะของพื้นที่ในชีวิตของมนุษย์ได้อย่างครบด้าน  ทั้งในส่วนที่เป็นดังพื้นถนน เมื่อเมล็ดพระวจนะตกลงไปแล้วไม่เกิดผลเพราะมีนกมาจิกกินไปหมดเสียก่อน  ดินที่มีหินก็เช่นกันแม้จะมีบางส่วนที่งอกโดยเร็วแต่ก็ตายเร็วเช่นกัน  ดินที่มีหนามปกคลุมก็เป็นอุปสรรคที่มารบกวนทำให้การทำงานนั้นไม่ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย แต่ดินดีสามารถทำให้เกิดผล สามสิบเท่า หกสิบเท่า ร้อยเท่า
ทุกคนที่ทำงานล้วนต้องการประสบความสำเร็จและอยากให้เกิดผลดีทั้งนั้น  แต่การประเมินผลโดยไม่คำนึงถึงลักษณะของพื้นที่ ดังที่กล่าวมาอาจส่งผลเสียต่อทั้งงานและคนทำงาน  จึงควรพิจารณาให้ครบด้านว่า ได้ทำตามนิมิต ด้วยวิธีการที่เหมาะสม และอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสมหรือไม่  หากทำอย่างดีแล้ว แต่พื้นที่ไม่เหมาะ อาจจะต้องพิจารณาเปลี่ยนพื้นที่การทำงานเพื่อให้เกิดผลดีกว่าก็ต้องทำ ไม่ใช่เปลี่ยนคนงานเท่านั้น  การประเมินพื้นที่อย่างเหมาะสมยังจะช่วยเลือกใช้คนและวิธีการที่เหมาะสมได้อีกด้วย
4. ด้านผู้ปฏิบัติงาน 
องค์ประกอบสำคัญที่จะให้งานประสบผลสำเร็จ คือ “คน” หรือ ผู้ปฏิบัติงาน หรือ ผู้รับใช้ นั่นเอง จะต้องคัดคนที่เหมาะสมกับงาน เหมาะกับวิธีการ เหมาะกับพื้นที่ตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อจะไม่ผิดหวังตั้งแต่ก่อนจะเริ่มงาน ยังต้องเข้าใจด้วยว่า หลักการบริหารทั้งส่วนของ งาน เงิน วัสดุ และ คน นั้น การบริหารคน ถือเป็นเรื่องสำคัญและยากที่สุด  การจะบังคับ ขู่เข็น ให้เป็นไปตามที่ผู้บริหารกำหนดทั้งหมดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะบุคลิก ลักษณะ นิสัย องค์ประกอบอื่น ๆ ทั้งภายในและภายนอก เบื้องหน้า เบื้องหลัง ของแต่ละคนนั้นจะเปรียบเทียบหรือสรุปแบบเดียวกันไม่ได้
 การประเมินผล จึงไม่อาจหลีกเลี่ยงบุคคลผู้ปฏิบัติงานไปได้ ว่าเป็นคนที่เหมาะกับงานหรือไม่ มีนิมิตสอดคล้องกับเป้าหมาย บุคลิก นิสัยสอดคล้องกับพื้นที่หรือไม่ มีความสามารถใช้วิธีการตามที่กำหนดไว้ได้มากน้อยแค่ไหน  ความสามารถ ของประทานเป็นอย่างไร ทั้งนี้ เพื่อจะไม่ใช้คนที่ไม่เหมาะกับงานแล้วทำให้เกิดผลเสียต่อทั้งงานและคนนั้น ไปอย่างน่าเสียดาย
ผู้สื่อสารไม่ดีก็เอาคนจุ่มลงไปในความลำบาก  
แต่ทูตที่ซื่อสัตย์นำการรักษามาให้
  
(สุภาษิต 13.17)
การใช้คนและประเมินคนอย่างเหมาะสมย่อมเป็นผลดีกว่า
5.  ด้านสงครามฝ่ายวิญญาณ
ในฐานะคนและงานของพระเจ้า หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะคำนึงถึงเรื่องฝ่ายวิญญาณ พระคัมภีร์เอเฟซัส 6.10-18 สอนว่า  เพราะเราไม่ได้ต่อสู้กับสิ่งที่มองเห็น แต่กำลังต่อสู้กับเหล่าวิญญาณในสถานฟ้าอากาศ  ดังนั้น จำเป็นจะต้องรู้คู่ต่อสู้ที่แท้จริงและใช้อาวุธที่เหมาะสม จึงจะสามารถต่อกรกับศัตรูได้ มารซาตานมันคือ ผู้ขัดขวางตัวฉกาจ เป็นม่านบังตาทำให้ผู้คนไม่เห็นความจริง ทำให้จิตใจคนหันเหจากทางของพระเจ้า มันใช้วิธี รูปแบบต่าง ๆ นำคนออกนอกทางของพระเจ้า  จึงกล่าวได้ว่าการงานที่ล้มเหลว การไม่ประสบความสำเร็จ การไม่เกิดผล ความบาปชั่วทั้งปวงนั้น มีมารคอยบงการอยู่เบื้องหลัง...  แต่...อย่าด่วนสรุปอย่างนี้ด้านเดียว หากยังไม่ได้ประเมินด้านวัตถุประสงค์ วิธีการ พื้นที่ และคนทำงานควบคู่กันไปด้วย เพราะจะทำให้เกิดความงมงายและมักง่ายเกินไปที่จะโยนความผิดทั้งปวงให้มารโดยไม่รับผิดชอบใด ๆ ที่ควรกระทำ !  แต่หากประเมินมาแล้วและผลสรุปว่าเป็นเพราะปัญหาฝ่ายวิญญาณจริง ก็ให้สู้ด้วยสงครามฝ่ายวิญญาณอย่างหนักแน่นต่อไป แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่อาจละเลยในการใช้องค์ประกอบต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาแล้วได้  เพราะปัญหา อุปสรรค มักมีองค์ประกอบหลายด้านที่มีส่วนทำให้เกิดผลออกมาเช่นนั้น  ดังที่พระเยซูสอนสาวกกรณีคำถามเกี่ยวกับชายตาบอดว่ามีสาเหตุมาจากอะไร
            ...เมื่อพระองค์เสด็จดำเนินไปนั้น   ทรงเห็นชายคนหนึ่งตาบอดแต่กำเนิด และพวกสาวกของพระองค์ทูลถามพระองค์ว่า   “พระอาจารย์เจ้าข้า   ใครได้ทำผิดบาป   ชายคนนี้หรือบิดามารดาของเขา   เขาจึงเกิดมาตาบอด” พระเยซูตรัสตอบว่า   “มิใช่ว่าชายคนนี้หรือบิดามารดาของเขาได้ทำบาป   แต่เขาเกิดมาตาบอด   เพื่อให้พระราชกิจของพระเจ้าปรากฏในตัวเขา (ยอห์น 9.1-3)
ทั้งนี้ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ทุกสิ่งยังอยู่ภายใต้การควบคุมของพระเจ้าเสมอ
 การประเมินผล มีความสำคัญและมีผลต่อทุกฝ่ายเสมอ ยังต้องมีการประเมินเพื่อจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยน การพัฒนา การต่อยอดอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพียงแต่ควรมีหลักการที่เหมาะสมในการตัดสิน เพื่อจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบที่เป็นปัญหาต่อคนของพระเจ้าและงานของพระองค์โดยไม่จำเป็น  และอย่าลืมว่าเราต่างเป็นเพียงคนงานของพระเจ้า ผู้กำลังปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมาย สุดท้ายผู้ประเมินผลและตัดสินที่แท้จริงคือ “พระเจ้า”
เพราะว่าจำเป็นที่เราทุกคนจะต้องปรากฏตัวที่หน้าบัลลังก์ของพระคริสต์   เพื่อทุกคนจะได้รับสมกับการที่ได้ประพฤติในร่างกายนี้   แล้วแต่จะดีหรือชั่ว (2 เธสะโลนิกา 5.10)
ผู้รับใช้มีหน้าที่ทำงานอย่างสัตย์ซื่อ รับผิดชอบอย่างเต็มที่ ส่วนการเกิดผลเป็นของพระเจ้า (1โครินธ์ 3.5-15)

(ขอบคุณภาพจากอินเตอร์เน็ต)