คิดอย่างบัณฑิต
ข้อคิดจากอิสราเอล
Shiloh: เมืองชิโลห์
โดย บัณฑิต ดาแว่น
เมืองชิโลห์ (Shiloh) เป็นศูนย์กลางของชนชาติอิสราเอลโบราณอยู่ในพื้นที่ของยูเดียและสะมาเรีย
เริ่มมาตั้งแต่สมัยโมเสสจากนั้นมีการแบ่งดินแดนในสมัยโยชูวา (โยชูวา 18.1) ดำเนินต่อมาจนถึงก่อนจะมีการสถาปนากษัตริย์
คือราว ก่อน ค.ศ. 1100
ยุคนั้นยังเป็นการนำของปุโรหิตและผู้เผยพระวจนะ
โดยใช้หลักธรรมบัญญัติของพระเจ้าที่ประทานมาตั้งแต่สมัยโมเสสเป็นกฎหมาย มีปุโรหิต เอลี ทำหน้าที่ดูแลประชากรทั้งฝ่ายศาสนพิธี
และชีวิตประจำวัน ที่ชิโลห์
จึงเป็นที่ตั้งของพลับพลา (Tabernacle)
สถานที่นมัสการพระเจ้า ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ
และภายในห้องอภิสุทธิสถานยังมีหีบพันธสัญญาอันศักดิ์สิทธิ์ (Ark of the Covenant) ซึ่งภายในหีบบรรจุแผ่นหินพระบัญญัติ 10 ประการ โถทองคำใส่มานา(อาหารที่พระเจ้าประทานแก่ชนชาติอิสราเอลช่วงอพยพจากอียิปต์อยู่กลางทะเลทราย)
และไม้เท้าอาโรนที่ออกดอกตูม(อพยพ 25,1พง์กษัตริย์ 8, ฮีบรู 9.4) หีบพันธสัญญาตั้งอยู่ท่ามกลางชนชาติอิสราเอลที่เมืองชิโลห์เกือบ
400 ปี มีประชาชนไปร่วมพิธีถวายเครื่องบูชาที่ชิโลห์ปีละครั้ง
ปัจจุบัน เมืองชิโลห์เป็นซากปรักหักพังจาการรุกรานของหลายชนชาติ
แต่ยังได้รับการบูรณะให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและการศึกษา อยู่ในเขตเวสต์แบงก์ตามแนวของแม่น้ำจอร์แดน
(West
Bank)
หลังจากรถคณะทัวร์ไปถึง มีการอธิบายและนำโดยมัคคุเทศก์ เราต้องเดินขึ้นไปตามทางลูกรัง ช่วงแรกยังเป็นลักษณะสวนสาธารณะแหล่งการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์
เดินไปตามทางยังพบนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่น ๆ
โดยเฉพาะนักเรียนหญิงชายที่แต่งตัวน่ารักๆ มาทัศนศึกษา ผมจึงแอบถ่ายรูปเอาไว้
มัคคุเทศก์ชี้ให้ดูต้นอัลมอนด์ ที่กำลังออกผลยังเขียวสดอยู่ คงต้องรอให้มันแก่
เป็นพืชตระกูลถั่ว เขาโฆษณาสรรพคุณดีมากมายหลายประการทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ถึงความอุดมสมบูรณ์ด้วย ว่าแล้วก็เดินไปต่อตามทางเดิน
ผมแวะถ่ายรูปป้ายอธิบายสถานที่และประวัติความเป็นมาเป็นบางจุด ตามทางเดินและรอบ ๆ ตามภูเขาที่มีแต่หิน หิน
และหิน ทั้งหินก้อนเล็ก ก้อน ใหญ่ และก้อนมหึมา
ซึ่งนี่แหละทำให้ผมประทับใจและได้ความคิดเกี่ยวกับเรื่องราวในพระคัมภีร์เกี่ยวกับก้อนหิน
เช่น เรื่องก้อนหินของดาวิด ติดตามตามอ่านได้(https://bandhit.blogspot.com/2019/05/davids-stone.html)
และยังจะมีเรื่องเล่าจากก้อนหินตามมาให้อ่านกันอีกนะครับ ก้อนหินเป็นของที่ระลึกที่ผมหยิบมาแทบทุกที่ที่ไปเยือน เป็นกลยุทธ์ส่วนตัวที่บันทึกความทรงจำโดยไม่ต้องจ่าย ฮะๆๆ...แต่ต้องดูด้วยนะครับบางแห่งเขาไม่อนุญาตให้เก็บสิ่งของหรือเด็ดดอกไม้ มิฉะนั้นอาจติดคุกกินอาหารยิวจนเลี่ยนเชียวนะ...
เดินขึ้นเขาที่เต็มไปด้วยหิน
ต้องระวังการเดินสะดุดและลื่นไหล แม้อากาศจะเย็น ลมแรง
แต่เหงื่อเริ่มไหลหลังจากเดินมาครึ่งทาง บางคนหัวเข่าเริ่มปวดตามวัย พวกเราเข้าไปในอาคารโบราณ
ที่เขาเชื่อว่าเคยเป็นธรรมศาลาของชาวยิวโบราณ
เพื่อให้ดูวิดีทัศน์เกี่ยวกับเมืองชิโลห์ พลับพลาและการถวายเครื่องบูชา เป็นภาพสามมิติ
แสงสีเสียง จนรู้สึกว่าตัวเองกำลังย้อนยุคไปอยู่ในสมัยนั้นจริง ๆ
จากนั้นขึ้นไปบนยอดเขาที่เป็นอาคารหอคอยชมทิวทัศน์ที่ประกอบไปด้วยก้อนหินอย่างที่เล่ามา ข้างในอาคารหอคอยมีการฉายสารคดีเกี่ยวกับประวัติของอิสราเอลที่ตื่นตาตื่นใจอีกครั้ง เดินออกมารอบ ๆ พบหลุมที่เป็นช่องลงไปลึก
มีตาข่ายเหล็กปิดไว้ ได้รับคำอธิบายว่านี่เป็นนวัตกรรมการเก็บน้ำมาตั้งแต่ยุคโบราณ
ซึ่งพระเจ้าให้สติปัญญากับคนยิวใช้ภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยหินให้เกิดประโยชน์อย่างอัศจรรย์ เดินต่อมาหลายคนเกิดคำถามเมื่อเห็นดอกไม้คล้ายดอกป็อปปี้
(Poppy) หรือดอกฝิ่น ซึ่งผมถ่ายรูปไว้ ต่อมาได้รับคำยืนยันว่าคือดอกฝิ่นจริง
ๆ และยังมีดอกไม้ป่าของพื้นเมืองกระจัดกระจายให้ชื่นชมตลอดทาง
มาถึงบริเวณที่เชื่อกันว่า เคยที่เป็นที่ตั้งของพลับพลาสมัยปุโรหิตเอลี ถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เมื่อก่อนคนที่จะเข้ามาต้องถอดรองเท้า
เพื่อแสดงความเคารพยำเกรงต่อพระเจ้า
แต่บัดนี้พวกเรามายืนล้อมวงและถ่ายรูปโดยยังสวมรองเท้าได้เพราะหลังหมดยุคแห่งการถวายบูชาในพลับพลาแล้ว
ชนชาติอิสราเอลได้สร้างพระวิหารเพื่อเป็นศูนย์กลาง โดยกษัตริย์ซาโลมอน บุตรชายของกษัตริย์ดาวิด
ได้ลงมือสร้างอย่างสง่างามที่ภูเขาโมรียาห์ ช่วงปี ก่อน ค.ศ.970-930 (2 พงศาวดาร
3.1) และสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันในชื่อภูเขาพระวิหารในเยรูซาเล็ม หรือวิหารโดมทอง (Dorm
of the Rock)ที่พวกเราก็ต้องไปที่นั่นเหมือนกัน ด้วยเหตุนั้น มัคคุเทศก์อธิบายว่า
ความศักดิ์สิทธิ์ขั้นสูงสุดจึงขึ้นอยู่กับหีบพันธสัญญาและพระวิหารแห่งใหม่ เราจึงมายืน ณ
ที่แห่งนี้ที่เคยเป็นพลับพลาโบราณได้โดยไม่ต้องถูกไฟแห่งพระพิโรธเผาให้วอดวาย
แต่ถึงกระนั้นเรายังต้องมีความเคารพยำเกรงพระเจ้าอยู่เสมอในทุกสถานที่
เพราะพระเจ้าเคยใช้สถานที่แห่งนี้เพื่อสำแดงความยิ่งใหญ่ของพระองค์
ข้อคิดที่ผมได้รับจากประเด็นนี้คือ
สถานที่แห่งนี้เคยเป็นที่สถิตของพระเจ้าผ่านทางพลับพลาและหีบพันธสัญญา แต่ปัจจุบันถูกย้ายไปที่อื่นที่เหมาะสมกว่า อะไรเป็นเหตุที่ต้องเป็นอย่างนั้น บางครั้งแทนที่ตัวเราเองจะเป็นศูนย์กลางแห่งพระพรต่อคนอื่น
ๆ หรือ พระเจ้าต้องการใช้ชีวิตของเราในบางเรื่อง แต่น่าเสียดายหากเราไม่พร้อม
ไม่เหมาะ หรือไม่ตอบสนองต่อการทรงเรียกของพระเจ้าตามที่ควร
จึงทำให้พลาดโอกาสที่พระเจ้าจะใช้ไป
อิสราเอลไม่สิ้นคนดี แม้หมดยุคปุโรหิตเอลีแต่ยังมีซามูเอลมาสืบทอด
พระคัมภีร์บันทึกเรื่องราวในยุคของปุโรหิตเอลี การกำเนิดของซามูเอล ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงมาสู่ระบบการปกครองโดยกษัตริย์ไว้ในพระธรรม
1 และ 2 ซามูเอล เรื่องที่ชวนคิดคือ
หากเอลีและลูกชายของท่านยังอยู่ในทางของพระเจ้าอย่างสัตย์ซื่อ
พวกเขาน่าจะเป็นต้นตระกูลที่ปกครองชนชาติอิสราเอลไปอีกนาน
และสถานที่แห่งนี้คือเมืองชิโลห์คงจะเป็นศูนย์กลางของจิตวิญญาณอย่างยิ่งใหญ่ตลอดไป
แต่น่าเสียดายลูกชายทั้งสองของท่านทำให้เกิดความทุกข์มาสู่เอลีโดยการยักยอกทรัพย์
บีบบังคับประชาชน และทำสิ่งฉ้อฉลอย่างไม่ยำเกรงพระเจ้า ชายหนุ่มทั้งสองตายในสงครามและส่งผลให้เอลีผู้พ่ออกแตกตายอย่างทรมานในปั้นปลายของชีวิต
(1 ซามูเอล 4) และหีบพันธสัญญายังถูกยึดไปอยู่ในมือของศัตรูด้วย แต่ในที่สุดพระเจ้าก็ทำให้หีบนั้นกลับคืนมาได้
ท่ามกลางสถานการณ์ที่มีชนชั้นนำทำตัวไม่เหมาะสมนั้น ยังมีหนุ่มน้อยซามูเอล เด็กรับใช้ในพลับพลา อยู่ภายใต้การดูแลของปุโรหิตเอลี (อาจเทียบได้กับเด็กวัดบ้านเรา) ซามูเอล เป็นลูกชายที่เกิดจากคำอธิษฐานของแม่ คือนางฮันนาห์ หญิงหมันที่ทนทุกข์จากการไม่มีลูกมาหลายปี เธอติดตามสามีมาที่ชิโลห์ทุกปีเพื่อถวายเครื่องบูชาตามประเพณี แต่เธอทำมากกว่านั้น คือใช้เวลาอธิษฐานวิงวอน ภาวนา คร่ำครวญ ร้องขอต่อพระเจ้า จนแม้แต่ปุโรหิตเอลีเข้าใจผิดคิดว่าเธอเมาเหล้าและพูดพร่ำไปเรื่อยเปื่อย แต่เมื่อฟังคำอธิบายว่าเธอมีทุกข์อย่างไรและมีความปรารถนาเช่นใดอย่างถ่องแท้แล้ว จึงได้อวยพรเธอ พระเจ้าตอบคำอธิษฐานฮันนาห์ โดยประทานบุตรชายคนนี้ “ซามูเอล” หมายถึง อธิษฐาน หรือ พระเจ้าฟังคำอธิษฐาน (Samuel sounds like the Hebrew for heard of God)
และอยู่มาเมื่อถึงกาลกำหนด ฮันนาห์ก็ตั้งครรภ์คลอดบุตรชายคนหนึ่ง และนางเรียกชื่อเด็กนั้นว่าซามูเอล เพราะนางกล่าวว่า “ดิฉันทูลขอมาจากพระเจ้า” (1 ซามูเอล 1.20)
หลังจากซามูลเอลหย่านมแล้ว
นางฮันนาห์จึงนำมาถวายให้เป็นคนของพระเจ้าที่พลับพลาต่อหน้าปุโรหิตเอลี
ตามความตั้งใจที่เธอได้อธิษฐานไว้ (1 ซามูเอล 1.11,24-28) ซามูเอล คนนี้แหละที่กลายมาเป็นปุโรหิตที่ประชาชนให้ความเคารพบันถือถึงขั้นขอให้เขาเป็นผู้ปกครองทั้งด้านจิตวิญญาณและทางบ้านเมืองแต่ท่านไม่ปรารถนาเป็นผู้ปกครองเมือง
พระเจ้าจึงใช้ท่านให้เป็นผู้เจิมตั้งกษัตริย์องค์แรกของอิสราเอล คือซาอูล
และต่อมาได้เลือกกษัตริย์อีกองค์คือ ดาวิด ซึ่งเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ของอิสราเอลสืบมาจนปัจจุบัน
ซามูเอล เป็นบุคคลที่พระเจ้าใช้
และท่านมีความถ่อมตน ไม่ทะเยอทะยานในด้านตำแหน่งหรือชื่อเสียง แต่ทำหน้าที่สำคัญคือ
การอธิษฐานเผื่อประชาชน ซึ่งท่านได้ทำสิ่งนี้จนถึงวาระสุดท้าย ตามคำกล่าวต่อหน้าประชาชนว่า...
ยิ่งกว่านั้นส่วนข้าพเจ้าขออย่าให้มีวี่แววที่ข้าพเจ้าจะกระทำบาปต่อพระเจ้าด้วยการหยุดอธิษฐานเพื่อท่านทั้งหลาย แต่ข้าพเจ้าจะแนะนำทางที่ดีและที่ถูกให้ท่าน -1 Samuel 12:23
ณ เมืองชิโลห์ แห่งนี้
มีบทเรียนที่ล้ำค่าต่อชีวิต
จากชีวิตของเอลีและลูก ที่ต้องถูกพิพากษาโทษเพราะการไม่เชื่อฟัง
จึงพลาดโอกาสการเป็นศูนย์กลางแห่งพระพร แต่สำหรับ ซามูเอล เด็กชายที่ได้เกิดมาเพราะคำอธิษฐาน
เขาได้อุทิศทั้งชีวิตเพื่อทำตามประสงค์ของพระเจ้า จึงทำให้เราระลึกถึงท่าน
ในฐานะปุโรหิต ผู้วินิจฉัย
และผู้เจิมตั้งกษัตริย์ให้ชนชาติอิสราเอล
และยังเป็นนักอธิษฐานที่คิดถึงผู้อื่นอยู่เสมอ
ลองพิจารณาดูนะครับว่า คุณอยากมีชีวิตแบบเอลีและลูกที่ถูกปฏิเสธในปั้นปลาย
หรือ
อยากเป็นคนที่ถูกพระเจ้าเรียกและใช้อย่างซามูเอล จากเด็กรับใช้ในพลับพลา กลายมาเป็นผู้รับใช้พระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ตลอดกาล