Praying at wailing wall อธิษฐานที่กำแพงร้องไห้
โดย บัณฑิต ดาแว่น
จุดสำคัญของการไปเยือนอิสราเอล
ดินแดนแห่งพันธสัญญาครั้งนี้อีกแห่งคือ
การได้ไปอธิษฐานที่กำแพงร้องไห้(Wailing wall) หรือ
กำแพงตะวันตก (Western Wall) เป็นกำแพงสูงใหญ่ด้านทิศตะวันตกของเนินพระวิหาร
หรือภูเขาโมรียาห์ซึ่งเป็นที่ตั้งของโดมครอบหิน(Dome of the Rock) ที่เป็นสุเหร่ามุสลิม
กำแพงตะวันตกน่าจะเป็นจุดที่สำคัญที่สุดของชาวยิวในแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์
เป็นสัญลักษณ์ของการที่คนอิสราเอลได้หวนกลับคืนสู่แผ่นดินพันธสัญญา
เป็นสักการสถานศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของคนยิว
และเป็นที่นมัสการและอธิฐานภาวนาสำหรับคนทั่วไป
กำแพงนี้เป็นส่วนที่เหลือจากกำแพงพระวิหารหลังที่สอง
ที่สร้างเริ่มขึ้นตั้งแต่ ศตวรรษที่ 6 ก่อน ค.ศ. ในปีที่ 37 ก่อน ค.ศ. เฮโรดได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกษัตริย์ของชาวยิว
พระองค์ได้ปรับปรุงกรุงเยรูซาเล็มให้สวยงาม
และสร้างพระวิหารขึ้นใหม่ให้ใหญ่โตกว่าและสวยงามกว่าพระวิหารของกษัตริ์โซโลมอน
เพื่อเป็นการเอาใจชาวยิว นี่คือพระวิหารที่อยู่ในช่วงเวลาที่พระเยซูคริสต์ดำเนินพันธกิจในโลกนี้
ปี ค.ศ. 70 กรุงเยรูซาเล็มและพระวิหารถูกจักรรดิติตัสทำลายหมดสิ้น
คงเหลือไว้แต่กำแพงล้อมรอบวิหารที่สร้างด้วยก้อนหินขนาดใหญ่มาก เราจึงได้เห็นก้อนหินที่มีอายุสองพันกว่าปีที่นี่ หลังสงครามปลดปล่อยอิสราเอล
ชาวยิวประกาศตั้งรัฐอิสราเอล ในปี ค.ศ. 1948 โดยมีเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวง
แต่ส่วนที่เป็นเมืองเก่าอยู่ในส่วนยึดครองของประเทศจอร์แดน
ชาวยิวถูกห้ามเข้ามาที่กำแพงตะวันตก จนกระทั้งอิสราเอลชนะสงคราม 6 วันต่อประเทศอาหรับ และได้ปกครองเยรูซาเล็มทั้งหมด ชาวยิวจึงเข้ามาที่กำแพงตะวันตกเพื่อนมัสการและสวดภาวนาได้
การเข้าไปบริเวณพระวิหารและกำแพงร้องไห้
ต้องเข้าคิวยาวเหยียด ผ่านการตรวจเช็คเพื่อความปลอดภัยอย่างเข้มงวด คณะของเราเดินขึ้นไปทางประตูขยะ
ซึ่งเป็นประตูโบราณที่พวกเขานำขยะมาทิ้งช่องทางนี้ การเข้าไปอธิษฐาน ต้องแยกชายหญิงตามโซนที่ธรรมเนียมยิวปฏิบัติ ผู้ชายต้องสวมหมวกอธิษฐานถือเป็นการให้เกียรติและสำนึกว่าพระเจ้าปกเกล้าเหนือหัวอยู่เสมอ
ส่วนผู้หญิงไม่ต้องเพราะมีผมยาวคลุมแล้ว
ผมพบว่า... กำแพงไม่ได้ร้องไห้
แต่ผมต่างหากที่กำลังร้องไห้... ขณะเข้าไปยืนยกมือสองข้างแตะผนังกำแพงที่เป็นก้อนหินเก่าแก่
หลับตาภาวนา คิดถึงองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้สรรค์สร้างทุกสิ่งขึ้นมา
และเลือกสรรคนอิสราเอลให้เป็นตัวแทนเพื่อแผนการไถ่บาปให้กับมวลมนุษย์
ณ
สถานที่อันศักดิ์สิทธิ์นี้ ผมจะอธิษฐานอย่างไรดี
และอธิษฐานเรื่องอะไร ถึงจะเป็นคำอธิษฐานที่ดีที่สุด และเกิดผลสูงสุด ในขณะที่น้ำตากำลังคลอ
ก็รำพึงอธิษฐานออกมาด้วยเสียงเบาๆและสั่นเครือเล็กน้อยด้วยใจปลาบปลื้มในพระคุณพระเจ้าที่ให้มาถึงที่นี่ ก่อนจะอธิษฐานเรื่องอื่นๆ
ผมเริ่มต้นที่คำอธิษฐานที่พระเยซูตรัสสอนดังนี้
“ท่านทั้งหลาย จงอธิษฐานตามอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระบิดาแห่งข้าพระองค์ทั้งหลาย ผู้ทรงสถิตในสวรรค์ ขอให้พระนามของพระองค์เป็นที่เคารพสักการะ
ขอให้แผ่นดินของพระองค์มาตั้งอยู่ ขอให้เป็นไปตามพระทัยของพระองค์ ในสวรรค์เป็นอย่างไรก็ให้เป็นไปอย่างนั้นในแผ่นดินโลก
ขอทรงโปรดประทานอาหารประจำวันแก่ข้าพระองค์ทั้งหลายในกาลวันนี้
และขอทรงโปรดยกบาปผิดของข้าพระองค์ เหมือนข้าพระองค์ยกโทษผู้ที่ทำผิดต่อข้าพระองค์นั้น
และขออย่านำข้าพระองค์เข้าไปในการทดลอง แต่ขอให้พ้นจากซึ่งชั่วร้าย
เหตุว่าราชอำนาจ และฤทธิ์เดช และพระสิริเป็นของพระองค์สืบๆ ไปเป็นนิตย์ อาเมน” (มัทธิว 6.9-13)
เชื่อว่านี่เป็นคำอธิษฐานที่ครอบคลุมทุกเรื่องในชีวิตแล้ว คือ ได้ ...
·
สรรเสริญ พระเจ้าพระบิดาผู้สถิตในสวรรค์ ได้ยกย่องพระนามบริสุทธิ์ของพระองค์
ผู้ทรงสมควรเทิดทูน
·
สนองต่อ พระทัยของพระเจ้า
ที่ทรงทำสำเร็จในสวรรค์แล้ว และขอให้สำเร็จในชีวิตและในโลกนี้ด้วย
·
สนิทสนม
และพึ่งพาในพระบิดาที่สามารถเลี้ยงดูชีวิตได้ทุกวัน
·
สารภาพ บาปผิด
และคิดการยกโทษแด่ผู้อื่นด้วยความเมตตาและความรักจากพระเจ้า
·
เสนอ
ขออย่าให้เผชิญกับอุปสรรคปัญหาและสิ่งชั่วร้ายโดยไม่จำเป็น
·
สนอง ต่อแสนยานุภาพที่มีอยู่ในพระองค์ทั้งสิ้นแล้ว ทุกสิ่งเป็นไปได้โดยพระเจ้า
และผมลงท้ายคำอธิษฐานด้วย
พระนามพระเยซูคริสต์เจ้า...อาเมน
รู้สึกมีความสุขใจ
อิ่มเอิบใจ และมั่นใจอย่างยิ่ง ถอยหลังออกมา นั่งเก้าอี้และพิจารณาชีวิตอีกครั้ง
พร้อมมองไปรอบๆ เห็นผู้คนกำลังอธิษฐานด้วยท่าทีอันสงบและมีพลัง
จนกระทั่งได้เวลาเดินทางไปทานมื้อเที่ยงบนยอดเขา ที่กลายเป็นราชวังของกษัตริย์เฮโรดผู้ยิ่งใหญ่ที่บัญชาให้บูรณะพระวิหารอย่างตระการตานั่นเอง
ข้าแต่พระเจ้า พระศิลาและพระผู้ไถ่ของข้าพระองค์ ขอให้ถ้อยคำจากปากของข้าพระองค์ และการรำพึงภาวนาในจิตใจ เป็นที่โปรดปรานในสายพระเนตรของพระองค์เถิด (สดด19.14)