คิดอย่างบัณฑิต
คริสเตียนกับการรู้เท่าทันสื่อ :
Christian
and Media literacy โดย บัณฑิต
ดาแว่น
บทความนี้เขียนตั้งแต่ปี
2008 เพื่อนำเสนอผ่านทางนิตยสาร พระคริสตธรรมประทีป ของคริสเตียนไทย...
แต่ยังมีข้อคิดที่สามารถเตือนสติในวันนี้ได้เช่นกัน จึงนำมาเพื่อเป็นข้อคิดเพื่อชีวิตในยุคออนไลน์กันอีกครั้ง
จี้สอบ ‘แอพหน้าแก่’ ชี้ส่ออันตราย เพราะล้วงลับ “ข้อมูลส่วนตัว” ได้! สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐ
จี้เอฟบีไอ สอบ FaceApp ทำหน้าแก่ เหตุบ.รัสเซียอยู่เบื้องหลังหวั่นล้วงข้อมูล (ข่าวสดออนไลน์
18 ก.ค.62)
“เครือข่ายผู้หญิงโวย...ให้ตัดฉากละคร...ออกแถลงการณ์ให้ทบทวนฉากข่มขืน
หวั่นผู้ชมเข้าใจว่าการข่มขืนไม่ใช่ความผิด สร้างค่านิยมผิดให้สังคม”(มติชน
12
มิ.ย.51)
“หญิงไทยอยากมีผิวขาว
กลิ่นกายหอม รูปร่างผอม” “หญิงไทยอยากขาวไร้ริ้วรอย หมดเงินไปกับครีมและเครื่องสำอาง
คิดเป็นค่าใช้จ่ายถึง 10% ของรายได้ต่อเดือน” (โพสต์ทูเดย์ 21 พ.ค. 51)
“ตะลึง!!
เด็ก 6 ขวบ อยากขาวคว้าไฮเตอร์อาบน้ำ เหตุเลียนแบบโฆษณา” (ผู้จัดการออนไลน์ 11 พ.ค. 51 )
“วัยรุ่นคลั่งซีรี่ย์เกาหลีแต่งตัวเลียนแบบนักร้องคนโปรด” “สยอง !โจ๋โหดฆ่าแท็กซี่ เลียนแบบเกมออนไลน์” (ไทยรัฐ 3 ส.ค. 51)
นี่คือตัวอย่างส่วนหนึ่งของผลกระทบที่เกิดขึ้นจากอิทธิพลของสื่อ...!!
“สื่อ” มีอิทธิพลต่อชีวิตของคนเราอย่างมาก จนยากที่จะหลีกเลี่ยง ไม่ว่าจะเป็นผู้มีจิตวิญญาณต่ำหรือสูง จากเช้าจรดเย็น จากตื่นถึงหลับ ตลอดเวลามีการสื่อสารให้เราได้ยิน ได้ฟัง
ได้เห็น ได้สัมผัส และได้ตัดสินใจเลือกใช้จากสิ่งที่สื่อนำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์
วิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออิเลคทรอนิกส์ ทางเคเบิล ดาวเทียม อินเทอร์เน็ต
และโทรศัพท์มือถือ ข้อมูลข่าวสารที่มาถึงตัวเรานั้นมีทั้งดีและร้าย
มีอันตรายและมีประโยชน์ หลากหลายวิธีการ
ทั้งแบบตรงไปตรงมา แบบมีลับลมคมใน จนถึงขั้นหลอกล่อและหลอกลวง
จึงจำเป็นต้องหาวิธีรับมือกับข้อมูลข่าวสารที่ผ่านทางช่องทางที่เรียกว่า
“สื่อ”
ให้มากขึ้นเพื่อจะไม่ตกเป็นเหยื่อโดยไม่จำเป็น ดังที่นักวิชาการเรียกว่า “การรู้เท่าทันสื่อ” ซึ่งสอดคล้องกับพระวจนะที่สอนว่า
“จงระวังให้ดี
อย่าให้ผู้ใดทำให้ท่านตกเป็นเหยื่อด้วยหลักปรัชญา
และด้วยคำล่อลวงอันเหลวไหลตามตำนานของมนุษย์ ตามวิญญาณต่างๆแห่งสากลจักรวาล ไม่ใช่ตามพระคริสต์” (โคโลสี 2.8)
“เพื่อเราจะไม่เป็นเด็กอีกต่อไป
ถูกซัดไปซัดมาและหันไปเหมาด้วยลมปากแห่งคำสั่งสอนทุกอย่าง
และด้วยเล่ห์กลของมนุษย์ตามอุบายฉลาดอันเป็นการล่อลวง”
(เอเฟซัส 4.14)
สื่อ
คืออะไร ? “สื่อ” (media) เป็นคำที่มีความหมายกว้างครอบคลุมถึงระบบการสื่อสารทุกอย่าง ทั้งอย่างเป็นทางการที่เรียกว่า
สื่อกระแสหลักอย่างที่เราพบเห็นอยู่ทุกวันนี้
และอย่างไม่เป็นทางการคือที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำของเราทั้งเป็นภาษาพูดและภาษาท่าทาง
รวมทั้งวัสดุ สิ่งของ
การดำเนินชีวิตทุกอย่างล้วนแต่อยู่ในขอบข่ายของการสื่อสารได้ทั้งนั้น โดยสรุป
สื่อ คือ ช่องทาง
ที่ผู้ส่งสารต้องการให้ข้อมูลข่าวสารนั้นไปถึงผู้รับ
และเกิดการตอบสนองอย่างใดอย่างหนึ่ง และผลที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นตามที่ต้องการ
หรือเข้าใจตรงกันหรือไม่
ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายอย่าง อาทิ รูปแบบวิธีการ เนื้อหา สภาพแวดล้อม
และอื่น ๆ
พระเจ้าทรงเป็นผู้สื่อสารที่ดีรอบคอบ
ทรงหาวิธีที่จะสำแดงให้มนุษย์ได้รู้จักและดำเนินตามพระทัยของพระองค์อย่างเหมาะสมตั้งแต่อดีต
ปัจจุบันและอนาคต และสื่อที่สมบูรณ์แบบที่ช่วยให้เรารอดนั้นคือ องค์พระเยซูคริสต์
“ในโบราณกาลพระเจ้าได้ตรัสด้วยวิธีต่างๆมากมายแก่บรรพบุรุษของเราทางพวกผู้เผยพระวจนะ
แต่ในวาระสุดท้ายนี้พระองค์ได้ตรัสแก่เราทั้งหลายทางพระบุตร... พระบุตรทรงเป็นแสงสะท้อนพระสิริของพระเจ้า และทรงมีสภาวะเป็นพิมพ์เดียวกันกับพระองค์...” (ฮีบรู.1.1-3)
“พระวาทะได้ทรงบังเกิดเป็นมนุษย์และทรงอยู่ท่ามกลางเรา บริบูรณ์ด้วยพระคุณและความจริง เราทั้งหลายได้เห็นพระสิริของพระองค์
คือพระสิริอันสมกับพระบุตรองค์เดียวของพระบิดา... ไม่มีใครเคยเห็นพระเจ้าเลย
พระบุตรองค์เดียวผู้ทรงสถิตอยู่ในพระทรวงของพระบิดา พระองค์ได้ทรงสำแดงพระเจ้าแล้ว” (ยอห์น1.1,18)
สื่อ ทุกวันนี้ ส่งผลกระทบต่อชีวิตฝ่ายร่างกายและจิตวิญญาณเป็นอย่างมาก ทำให้ตกอยู่ในอำนาจใฝ่ต่ำของเนื้อหนัง (กาลาเทีย
5.16-21) ตกอยู่ใต้อิทธิพลของโลก
และการล่อลวงของมารร้าย นำไปสู่ราคะตัณหา และการกระทำอันขัดต่อน้ำพระทัยอีกสารพัด
ซึ่งในบางครั้งด้วยความพลั้งผิด และพลั้งเผลอ
ซ้ำร้ายหลายครั้งไม่รู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ บางครั้งถึงขั้นเห็นผิดเป็นชอบ
เพราะความคิด จิตใจถูกครอบงำจากอิทธิพลของสื่อต่าง ๆ
ที่นำข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จ
ซึ่งดูคล้ายจริงนั้นมาทำให้เราเขวไปจากทางอันชอบธรรม ไม่เว้นแม้ในการตัดสินใจเรื่องการดำเนินชีวิต
และพันธกิจในคริสตจักร เช่น
บางคนอาจจะอ้างว่าเพราะไม่มีข้อห้ามในพระคัมภีร์ที่ชัดเจนจึงทำอย่างนั้น
เพราะเห็นว่าคนอื่น ๆ ในสังคมก็ทำกันปกติทั้งที่จิตสำนึกฝ่ายวิญญาณที่ปกติแสดงว่าไม่ถูกต้องก็ตาม ทั้งในเรื่องการกิน การดื่ม การแต่งตัว
การเลี่ยงความจริงบางอย่าง เป็นต้น
จะปล่อยให้เรื่องดังกล่าวเป็นไปตามสถานการณ์ของโลกที่นับวันจะถอยห่างจากน้ำพระทัย
และยิ่งนับวันจะใส่ใจกับวัตถุนิยม บริโภคนิยม สุขนิยม ตัวบุคคลนิยมอย่างนั้นหรือ ?
จำเป็นที่จะต้อง
“รู้เท่าทันสื่อ” ให้มากขึ้น
เพื่อยังคงรักษาความเป็นเกลือและแสงสว่างอย่างต่อเนื่อง นั่นคือ การรู้จักระมัดระวัง การรู้ผิดรู้ถูก การรู้ที่มาที่ไป
การรู้ทางหนีทีไล่
รู้สิ่งที่ถูกต้องสิ่งที่ถูกใจ และสิ่งที่ถูกตามน้ำพระทัย (ฟิลิปปี.4.8,โรม.12.1-2)
แทนที่จะดูแค่เพียงใคร
ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ เท่านั้น ให้ใช้ความคิดวิเคราะห์ถึงเหตุและผลของเรื่อง ฝึกตั้งคำถาม ทำไม หรือเพราะอะไรให้มากขึ้น นี่คือ จุดเริ่มต้น การรู้เท่าทันสื่อ
รู้เท่าทันกลยุทธ์ของมารที่มันอาจจะแอบแฝงมาในรูปแบบต่าง ๆ ในโลกปัจจุบันนี้
สิ่งที่ควรตระหนักเพื่อนำไปสู่การรู้เท่าทันสื่อ...
1. สิ่งที่เห็นผ่านสื่อ ล้วนเป็น
"มายา"
สื่อ คือสิ่งที่สร้างขึ้น ทั้งจากความจริงทั้งหมดและจากความจริงบางส่วน
และจากไม่มีในความเป็นจริงเลย
แต่นำมาผ่านกระบวนการสร้างสรรค์ ปรุงแต่งให้น่าดูน่าชมและน่าดำเนินตาม หากเราไม่เข้าใจข้อนี้อาจจะตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับเอวาที่ถูกมารล่อลวงที่สวนเอเดนใต้ต้นไม้นั้นได้ เพราะมารมันใช้คำพูดที่เสมือนจริงของพระเจ้า
แต่ไม่ใช่ความจริง ในอีกด้านหนึ่งสื่อที่ปรุงแต่งหรือสรรค์สร้างมานั้นก็เป็นประโยชน์เช่นกันหากนำมาใช้อย่างถูกทางเพราะสามารถช่วยให้เกิดความเข้าใจในความจริงที่เป็นนามธรรมง่ายขึ้น
เช่น การยกตัวอย่าง การเล่าคำอุปมาของพระเยซู
เพื่อให้สาวกเข้าใจเรื่องแผ่นดินของพระเจ้า เป็นต้น
2. สิ่งที่เห็นผ่านสื่อ อาจเป็นเพียงแค่
"ภาพของความจริง" เท่านั้น
สื่อ
สามารถสร้างภาพความจริง ให้เราคิด เข้าใจ
และคล้อยตามที่สื่อบอกความหมายของสิ่งนั้น เช่น ทำให้เราคิดว่า ขาวดีกว่าดำ
รวยดีกว่าจน ชายดีกว่าหญิง ฝรั่งดีกว่าไทย ในเมืองดีกว่าบ้านนอก เป็นต้น
หากเราไม่ระวังมันอาจเปลี่ยนทัศนคติของเราไปอย่างสิ้นเชิง และทำให้เราสนใจสิ่งที่เห็นภายนอกมากกว่าความจริงภายใน สนใจสิ่งของวัตถุมากกว่าฝ่ายวิญญาณ
และเข้าใจผิดคิดว่าพระพรของพระเจ้าต้องเป็นสิ่งที่เราจับต้องและเห็นได้
และเป็นสิ่งที่ทำให้เราพึงพอใจเท่านั้น เพราะจากความจริงของชีวิตโยบ
และชีวิตโยเซฟทำให้เราประจักษ์ชัดว่า บางครั้งพระพรนั้นมาพร้อมกับความทุกข์ลำบากซึ่งเป็นสิ่งที่เราอาจจะไม่ปรารถนา
แต่ความจริงก็คือ ผลสุดท้ายพิสูจน์ได้ว่า
พระเจ้ายังเป็นองค์สัตย์ซื่อและเที่ยงธรรม ทรงรักษาพระสัญญาของพระองค์
และสามารถทำให้สำเร็จตามพระประสงค์ นี่คือความจริงที่เราต้องเข้าใจ
อย่าให้สื่อสร้างภาพความจริงจนเราต้องหลงทาง
3. สิ่งที่เห็นผ่านสื่อ "มีผลประโยชน์ทางธุรกิจแอบแฝงอยู่"
สื่อ
ส่วนใหญ่ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อเหตุผลทางธุรกิจ แสวงหากำไร ดังนั้นผู้รับสารจึงเป็นเพียงแค่
“กลุ่มเป้าหมาย” ที่เขาต้องการขายสินค้า
หรือขายบริการของผู้ที่เป็นผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง สื่อจะเป็นช่องทางที่ทำให้เราเกิดความรู้
ความต้องการ และแสวงหาสิ่งนั้นมาตอบสนอง
ลองสังเกตว่า เพราะอะไรเราจึงสวมใส่เสื้อผ้าที่มีสัญญาลักษณ์แบบนี้
รูปทรงแบบนี้ ทำไมเด็ก ๆ ของเราจึงเรียกร้องที่จะบริโภคสินค้า อาหาร
และอุปกรณ์ต่าง ๆ อย่างนี้
ทำไมความรู้สึกในการกินไก่ย่างข้างถนน กับไก่ย่างในห้างชื่อดังจึงต่างกัน รถที่เราขับ โทรศัพท์ที่เราใช้ อะไร ๆ
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น นี่คืออิทธิพลของสื่อที่ดึงเอาความสนใจของเราไปเสียแล้ว
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่ง
ที่ควรรู้เท่าทันสื่อ ยังมีเรื่องของสื่อที่เกี่ยวข้องกับการเมือง การถอดความหมายเดิมและสร้างความหมายใหม่ การผลิตซ้ำเพื่อตอกย้ำความคิดให้คล้อยตาม การกำหนดวาระ การเปิดเผยบางส่วน
ที่สื่อนั้นสามารถสร้างภาพ สร้างค่านิยม ความคิด และทัศนคติของเราได้
ขอบคุณพระเจ้าที่พระวจนะของพระองค์
เป็นความจริง และความจริงนี้ทำให้เราเป็นไท
สามารถช่วยให้พ้นจากบ่วงแร้วของมารซาตาน และสิ่งล่อลวงได้ (ยอห์น 8.31, สุภาษิต 3-7) ดังนั้นให้เราหันมาใส่ใจกับความจริงของพระเจ้าให้มากขึ้น
และใช้วิธีการสื่อสารของพระองค์ให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิต โดยใช้เทคโนโลยี
และสติปัญญาอันชาญฉลาดที่ทรงมอบให้มานั้นทำให้การสื่อสารเป็นช่องทางที่จะนำความรอด
ความหวัง ความสงบสุขที่แท้จริงมาสู่มนุษย์โลกให้มากขึ้น
อย่าปล่อยให้สื่อตกเป็นเครื่องมือของซาตานแต่ฝ่ายเดียวอีกต่อไป
เริ่มต้นรู้เท่าทันเสียตั้งแต่วันนี้ เพื่ออนาคตของชีวิตและคริสตจักรอันมีสง่าราศีของพระเจ้าสมกับเป็นบุตรที่รัก
และลูกแห่งความสว่างของพระองค์
...เหตุฉะนั้นท่านจงระมัดระวังในการดำเนินชีวิตให้ดี อย่าให้เหมือนคนไร้ปัญญา แต่ให้เหมือนคนมีปัญญา จงฉวยโอกาส เพราะว่าทุกวันนี้เป็นกาลที่ชั่ว เหตุฉะนั้นอย่าเป็นคนโง่เขลา
แต่จงเข้าใจน้ำพระทัยขององค์พระผู้เป็นเจ้าว่าเป็นอย่างไร (อ่าน เอเฟซัส 5.1-17)
(ขอบคุณภาพจากอินเตอร์เน็ต)