12 กันยายน 2559

ข้อคิดเพื่อชีวิตออนไลน์ โดย ศจ.บัณฑิต ดาแว่น

คิดอย่างบัณฑิต                                       โดย  ศจ.บัณฑิต  ดาแว่น

ข้อคิดเพื่อชีวิตออนไลน์ 

สุภาษิตโบราณกล่าวว่า...ผู้สื่อสารไม่ดีก็เอาคนจุ่มลงไปในความลำบาก   แต่ทูตที่ซื่อสัตย์นำการรักษามาให้   (Proverbs 13:17) 
ยุคดิจิตอล การสื่อสารแบบออนไลน์มีอิทิธิพลต่อชีวิตอย่างมาก  โดยเฉพาะคนไทยเป็นคนที่ใช้สื่อออนไลน์ติดอันดับต้นๆของโลก  ข้อมูลพบว่า จากจำนวนประชากรทั้งหมด 68 ล้านคน  มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 38 ล้านคน คิดเป็น 56% ของประชากร  มีจำนวนเบอร์มือถือหรือซิมการ์ดที่ลงทะเบียนมากกว่า 82.78 ล้านเบอร์ มากกว่าจำนวนประชากรทั้งหมด  มีผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียผ่านมือถือ 34 ล้านคน  นั่นหมายความว่าทุกวินาทีมีการสื่อสารผ่านทางสังคมออนไลน์ (Social Media) ที่เรียกกันว่า "สังคมก้มหน้า" นั่นเอง 
            เทคโนโลย์การสื่อสารนั้นมีทั้งประโยชน์อนันต์ และโทษมหันต์  ดังนั้นจึงต้องตระหนักอยู่เสมอว่า  จะสื่อสารอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหาทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น  จึงขอฝากข้อคิดเพื่อชีวิตออนไลน์ (On line)   ดังนี้...
1.  ข้อมูลที่จะสื่อสารนั้นเป็นความจริงหรือไม่
            ก่อนจะโพสต์ หรือแชร์ ข้อมูลออกไปโปรดหยุดคิดสักนิดว่า ข้อมูลนั้นเป็นความจริงหรือไม่ แหล่งที่มาเชื่อถือได้หรือไม่ สามารถตรวจสอบได้ไหม  หากไม่แน่ใจก็ควรยับยั้งการเผยแพร่ข้อมูลนั้นจะปลอดภัยกว่า เพราะหากข้อมูลที่เป็นความเท็จถูกเผยแพร่ไปโดยทำให้เกิดความเข้าใจว่าผิดคิดว่ามันเป็นความจริง ยิ่งเป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวง  บางคนคิดว่าตนเองสามารถเผยแพร่ข้อมูลเร็วที่สุด จึงไม่ทันยั้งคิด ก็มักนำชีวิตสู่ปัญหาโดยไม่จำเป็นมีให้เห็นมากมากแล้ว เพราะในโลกออนไลน์นั้นข้อมูลที่นำเสนอไปแล้ว ๆม่อาจจะเรียกกลับคืนได้ แม้คุณอาจจะลบออกไป แต่ไม่มีทางลบออกจากระบบออนไลน์ได้เลย
2.  ข้อมูลที่จะสื่อสารนั้นจะส่งผลกระทบที่เสียหายหรือไม่
            ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากโลกออนไลน์นั้นมากเกินกว่าจะประเมินค่าออกมาได้  ดังนั้น คิดหน้าคิดหลังก่อนว่า คำพูดนั้น ภาพนั้น ข้อความนั้น ที่คุณแสดงความรู้สึกออกมาและโพสต์ลงในสื่อออนไลน์ หรือ ได้รับมาจากคนอื่น ซึ่งหลายครั้งไม่ค่อยรู้ที่มา ไม่รู้ช่วงเวลาว่าเป็นเรื่องที่เก่าหรือใหม่ เรื่องจริงหรือเท็จ หากคุณโพสต์ไป แชร์ไป อาจส่งผลเสียหายย้อนกลับมาที่ตัวเอง หรือ เสียหายต่อบุคคลอื่นได้
3.  ข้อมูลที่จะสื่อสารนั้นถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
            เมื่อก่อนการสื่อสารมักจะอยู่ในมือของคนกลุ่มน้อย แต่ปัจจุบันทุกคนสามารถสื่อสารออกไปได้โดยง่ายผ่านสื่อออนไลน์  กฎหมายที่มีอยู่อาจไม่สามารถครอบคลุม หรือทันสมัยต่อการสื่อสารในยุตดิจิตอลได้  แต่ยังต้องคำนึงเสมอว่า ข้อมูลที่คุณจะสื่อสารออกไปนั้นอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายหรือไม่ เพื่อจะไม่ทำสิ่งผิดโดยไม่ตั้งใจ ซึ่งการ "ไม่รู้" ไม่สามารถใช้เป็นข้อแก้ตัวให้พ้นผิดได้  จึงควรศึกษาข้อกฎหมายเบื้องต้นทั้งทางอาญาและแพ่ง  แม้แต่กฎหมายเกี่ยวสิทธิประโยชน์ก็ยิ่งต้องคำนึงถึงว่า สิ่งที่จะทำลงไปนั้นละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นหรือไม่ ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่ เช่น การโพสต์ภาพผู้เสียชีวิต ผู้ป่วย เด็ก หรือบุคคลอื่นโดยไม่เหมาะสม ภาพที่อุจาดตา เป็นต้น
4.  ข้อมูลที่จะสื่อสารนั้นถูกต้องตามหลักจริยธรรมหรือไม่
            ไม่มีกฎหมายใดสามารถครอบคลุมและเท่าทันได้ทุกเรื่อง แต่หลักจริยธรรม ยังเป็นตัวยับยั้งอีกขั้นตอนหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ได้ เพื่อป้องกันเหตุอันไม่ควรเกิดไม่ให้เกิดขึ้นกับตนเองและผู้อื่น  บางจริยธรรมมีลายลักษณ์อักษร แต่บางครั้งอาจไม่มี แต่ในจิตใจของแต่ละคนย่อมมีมโนธรรมที่เป็นเครื่องมือช่วยกรองอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามันจะอยู่ลึกเกินกว่าจะนำมาพิจารณาหรือไม่เท่านั้นเอง  เพราะบางเรื่องแม้ไม่ผิดกฎหมาย แต่อาจไม่เหมาะสมตามหลักจริยธรรม และไม่ควรกระทำตามหลักมโนธรรมที่ดีงาม  จึงควรคิดให้ดีก่อนสื่อสารออกไป
5.  ข้อมูลที่จะสื่อสารนั้นเป็นที่ถวายเกียรติแด่พระเจ้าหรือไม่
            ในฐานะเป็นผู้เชื่อในพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้า เรามีหลักพิจารณาลึกไปกว่ากฎหมายและจริยธรรม นั่นคือ จิตสำนึกผิดชอบตามหลักพระคัมภีร์ที่จะเป็นตัวกำหนดว่า สิ่งนั้น เป็นเหตุให้เกิดการถวายเกียรติแด่พระเจ้าหรือไม่  เป็นเหตุให้พระนามพระเจ้าเสื่อมเสียหรือไม่ พระวิญญาณของพระเจ้าจะเสียพระทัยหรือไม่ ทำให้เป็นสิ่งสะดุดต่อผู้อื่นหรือไม่  เป็นต้น


            จึงฝากข้อคิดเพื่อชีวิตออนไลน์ทั้ง 5 ข้อนี้ไว้ให้พิจารณาก่อนโพสต์ ก่อนแชร์ ก่อนไลค์ หรือ ก่อนแสดงความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งออกไป เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ขึ้น...ผมเองก็คิดมานานพอควรที่จะเขียนและเสนอบทความนี้เช่นกัน...

          หากชอบก็กดไลค์ ใช่ก็กดแชร์ แต่...คิดให้ดีเสียก่อนนะครับ !

(ขอบคุณภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต)