27 มิถุนายน 2554

ถึงเวลาเลือกคนดี โดย บัณฑิต ดาแว่น

คิดอย่างบัณฑิต  โดย บัณฑิต  ดาแว่น 

ถึงเวลาเลือกคนดี

...28-29-30... -1 -2 ... วันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ถึงเวลาออกไปเลือกคนดี  นับเป็นวันสำคัญของไทยทั้งชาติ ที่จะสามารถกำหนดอนาคต ทิศทางของประเทศ ด้วยการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร   ถึงเวลาที่เราจะต้องเลือกคนที่เรามั่นใจว่าเป็นคนดี เข้าไปเป็นตัวแทน เพื่อทำหน้าที่ต่างๆ ตามกฎหมายบ้านเมือง  สิทธิพิเศษเช่นนี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแต่ละคน ไม่มีใครบังคับขู่เข็นได้ หากเราไม่ยินยอม  อย่าให้อิทธิพลใดครอบงำชีวิตเราได้  สิ่งที่เราสามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนคือ  ความรู้สึกในใจของเราที่มีต่อคนนั้นที่ขันอาสาเป็นตัวแทนว่าเป็นเช่นไร  เขาเป็นคนดีที่เรารอคอยอยู่หรือไม่  สังเกตได้จาก ประวัติชีวิต  ผลงาน วิธีการดำเนินงาน  คนรอบข้าง  รวมไปทั้งบุคลิกลักษณะของเขาคนนั้น    คงไม่มีใครประเสริฐเลิศเลอไปทั้งหมด  แต่สิ่งสำคัญคือ เขาแสดงความจริงใจ และความสัตย์ซื่อ ความสม่ำเสมอในการ รับใช้ประชาชน โดยไม่หวังผลประโยชน์ตอบแทนอย่างแท้จริงหรือไม่  ดังคำกล่าวที่ว่า ความยิ่งใหญ่ของคน ไม่ได้อยู่ที่จำนวนคนที่รับใช้เขา แต่อยู่ที่จำนวนคนที่เขารับใช้ต่างหาก   อย่ามองเฉพาะช่วงเวลาของการหาเสียงเท่านั้น  เพราะเราอาจไม่พบความจริงที่ซ่อนอยู่ แต่ให้สังเกตทั้งก่อนหน้าและหลังเลือกตั้งด้วยว่า เขาคนนั้นยังมีความคงเส้นคงวาดังที่พูดไว้หรือไม่  บางคนอาจจะคิดว่า  ทำไมต้องทำให้ยุ่งยากขนาดนั้นถึงเวลาเลือกใครสักคนก็ได้แล้วเพราะยังไงเสียก็ไม่มีผลอะไรต่อเราอยู่แล้ว  หากทุกคนคิดอย่างนี้บ้านเมืองคงลำบาก เพราะความจริงแล้วผลกระทบมันเกิดขึ้นกับเราแน่นอน เพียงแต่จะรู้ตัวหรือไม่เท่านั้นเอง  ดังนั้นเมื่อสิทธิอันชอบธรรมนี้อยู่ในมือเราแล้วควรจะใช้มันด้วยความระมัดระวัง และใช้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และนำประโยชน์สุขมาสู่ชีวิตต่อไปดีกว่า 
เราสามารถสังเกตเพื่อพิจารณาตัดสินใจว่าจะเลือกหรือไม่ จากชีวิตของเขาทั้งสิ่งที่พูดออกมาและจากผลที่เกิดขึ้น ตามหลักการแห่งพระคำของพระเจ้าที่สอนว่า...“ด้วยว่าต้นไม้ดีย่อมไม่เกิดผลเลว   หรือต้นไม้เลวย่อมไม่เกิดผลดี เพราะว่าจะรู้จักต้นไม้ทุกต้นได้ก็เพราะผลของมัน   ...คนดีก็ย่อมเอาของดีออกจากคลังดีแห่งใจของตน   และคนชั่วก็ย่อมเอาของชั่วจากคลังชั่วแห่งใจของตน   ด้วยใจเต็มด้วยอะไรปากก็พูดออกมาอย่างนั้น” (ลูกา 6.43-45)
ถึงเวลาแล้ว !! ที่เราจะใช้พลังแห่งสิทธิเสรีภาพในการเลือกใครสักคนหนึ่งที่คิดว่าเหมาะสมที่สุดในยุคสมัยนี้  เพราะแต่ละยุคสมัยนั้นเราอาจต้องการคนที่มีความสามารถแตกต่างกันก็ได้ แต่หลักสำคัญของความเป็นคนที่ยังควรจะอยู่คือ ความดี ความสัตย์ซื่อ  อย่าให้คนเช่นนี้หลุดมืออกไปจากสังคมของเราเลย   

21 มิถุนายน 2554

เลือกอย่างไรดี ? โดย บัณฑิต ดาแว่น

คิดอย่างบัณฑิต โดย บัณฑิต ดาแว่น

เลือกอย่างไรดี ?

เลือกตั้งไปทำไม อาจจะเป็นคำถามในใจของบางคน แต่ถึงจะมีคำถามอย่างไร ยังคงต้องไปใช้ “สิทธิ” เพราะปัจจุบัน รัฐธรรมนูญ กำหนดให้การเลือกตั้ง “เป็นหน้าที่” ที่พลเมืองไทยต้องรับผิดชอบ มิฉะนั้นจะเสียสิทธิทางการเมืองหลายประการ เราไปเลือกตั้งเพื่อ เลือกตัวแทนให้ไปทำหน้าที่แทนเราในสภา ไม่ว่าจะเป็นภายในท้องถิ่น หรือส่วนกลางก็ตาม คนที่ได้รับเลือกไปนั้นจะต้องไปทำหน้าที่ ที่ตอบสนองต่อประโยชน์สุขของประชาชนผู้ที่เลือกเขาเข้าไป ในฐานะที่เป็นเจ้าของสิทธิ ต้องรักษาสิทธิขั้นพื้นฐานของตนเองให้ดี อย่าให้ใครขโมยไปใช้ หรือ อย่าให้สิ่งใดมาทำให้การตัดสินใจเลือกของเรานั้นแปรเปลี่ยนไปจากที่ควรจะเป็น เพราะถ้าคนที่ชนะการเลือกตั้งนั้นไม่ได้เป็นคนที่เราอยากจะให้เขาเป็นตัวแทน อาจจะทำให้เราเสียใจภายหลังได้ หากไม่รักษาสิทธิอันเป็นหน้าที่ของตนเองตั้งแต่วันนี้

แล้วจะเลือกอย่างไรดีละ ถึงจะได้คนที่ดี ? คำว่า “คนดี” นั้นเป็นคำที่กว้างมาก ต้องทำความเข้าใจกับคำว่า “คนดี” ให้ถ่องแท้เสียก่อน “ดี” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 หมายความว่า “ว.มีลักษณะที่เป็นไปในทางที่ต้องการ น่าปรารถนา น่าพอใจ ใช้ในความหมายที่ตรงข้ามกับลักษณะบางอย่างแล้วแต่กรณี คือ ตรงข้ามกับชั่ว” แต่ปัญหาคือ คนเราทุกวันนี้ดูกันยากเหลือเกิน ว่าคนไหนดีจริง หรือ ดีแต่เปลือก จึงขอให้ไตร่ตรองกันให้ดี ดูทั้งชีวิตของเขาตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และที่คาดว่าจะเป็นในอนาคตด้วย ดูทั้ง กาย วาจา และใจ ว่าเป็นคนดีที่แท้จริงหรือไม่ ข้อสังเกตประการหนึ่งคือ คนดี ที่ดีจริงนั้น ใช่ว่า จะมาเริ่มดีกันแบบข้ามวันข้ามคืน ในช่วงของการหาเสียงเลือกตั้งเท่านั้น แต่เขาคนนั้นควรจะมีพื้นฐานความดีที่แสดงออกมาเป็นปกติอยู่แล้ว และยังต้องระวังว่าคนที่ทำดีที่ผ่านมานั้นเพียงแค่หวังผลประโยชน์ตองแทน หรือทำดีเพราะเป็นลักษณะความดีที่เขาเป็นอยู่หรือไม่ เพราะบางคนนั้นวางแผนเรื่องนี้มาก่อนจะลงสมัครมาหลายปี อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า เรื่อง ของคนดีนั้นดูกันยาก เมื่อไม่สามารถกลั่นกรองได้ทั้งหมดก็คงต้องอาศัยกาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์กันต่อไป

คำสอนโบราณประมาณคริสต์ศักราชที่ 63-64 มีหลักการคัดเลือกคนที่จะเป็นผู้นำชุมชน ดังนี้
...ถ้าผู้ใดปรารถนาหน้าที่ผู้ปกครองดูแลคริสตจักร(ชุมชน) ผู้นั้นก็ปรารถนากิจการงานที่ประเสริฐ ผู้ปกครองดูแลนั้นต้อง 1) เป็นคนที่ไม่มีใครติได้ 2) เป็นสามีของหญิงคนเดียว 3) เป็นคนรู้จักประมาณตน 4) มีสติสัมปชัญญะ 5) เป็นคนสง่าเรียบร้อย 6) มีอัชฌาสัยรับแขกดี 7)เหมาะที่จะเป็นครู 8) ไม่ดื่มสุรามึนเมา 9) ไม่เป็นนักเลงหัวไม้ 10) แต่เป็นคนสุภาพ 11) ไม่เป็นคนชอบวิวาท 12) ไม่เป็นคนเห็นแก่เงิน 13) ต้องเป็นคนครอบครองบ้านเรือนของตนได้ดี 14) อบรมบุตรธิดาของตนให้อยู่ในโอวาทและมีใจนอบน้อม เพราะว่าถ้าชายคนใดไม่รู้จักครอบครองบ้านเรือนของตน คนนั้นจะดูแลคริสตจักร(ชุมชน)ของพระเจ้าอย่างไรได้... (1ทิโมธี 3.1-5)

จากคำสอนดังกล่าวสรุปเป็นหลักการได้ว่า หนึ่ง คนที่มีความปรารถนาเป็นผู้ดูแลคนอื่นนั้นเป็นความตั้งใจที่ดี สอง การเป็นผู้นำหรือตัวแทนของประชาชนนั้นเป็นงานที่ดี ดังนั้น สาม คนที่จะมาเป็นตัวแทนต้องเป็นคนที่ดีด้วย ตามคุณสมบัติที่ได้กล่าวไว้หลายประการ

ในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง หากจะนำเอาหลักการเลือกคนดีมาปรับใช้ ก็เชื่อว่าจะได้คนดี ที่ดีจริงเช่นกัน แต่อย่าหยุดอยู่แค่การเลือกตั้งเท่านั้น ยังคงต้องจับตาดูคนที่เราคิดว่าดีนั้นอยู่ต่อไป เพื่อช่วยให้เขายังรักษา ความดี ที่เขาเคยตั้งใจว่าจะทำเพื่อประชาชนในช่วงหาเสียงด้วย

13 มิถุนายน 2554

คนดีที่รอคอย 2 โดย บัณฑิต ดาแว่น


คิดอย่างบัณฑิต โดย บัณฑิต ดาแว่น

คนดีที่รอคอย 2
กระบวนการคัดเลือกตัวแทนในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของไทยเรานั้น ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง มีล้มลุกคุกคลานบ้าง ถือว่าเป็นจังหวะลีลาวิถีชีวิตของคนในแต่ละยุคสมัย ไม่ว่าวันเวลา สถานการณ์ จะเปลี่ยนไปอย่างไร แต่หัวใจสำคัญของการเลือกตัวแทนยังไม่เคยเปลี่ยน นั่นคือ เราต้องการ คนดี คนเก่ง คนซื่อสัตย์ เข้าไปนั่งในสภาอันทรงเกียรติ เพื่อเป็นกระบอกเสียง และตัวแทนในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ของบ้านเมืองที่ประชาชนทุกคนนั้นเป็นเจ้าของ ดังนั้นต้องตระหนักในเรื่องนี้ให้ดีก่อนคือ คนที่เราจะเลือกนั้นต้องเต็มใจเป็นผู้รับใช้ประชาชน ไม่ใช่เป็นเจ้านาย และไม่ใช่คนที่จะเข้าไปเพื่อหวังกอบโกยประโยชน์ส่วนตน แต่ต้องเป็นคนที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ย้อนกลับไปยุคโบราณก่อนคริสตกาล ได้กำหนดคุณสมบัติของ คนดี เพื่อจะคัดเลือกเป็นตัวแทนของประชาชน ตามการบันทึกของพระธรรมอพยพที่ว่า
ท่านจงเลือกคนที่สามารถจากพวกประชาชน คือคนที่ยำเกรงพระเจ้า ไว้ใจได้ และไม่กินสินบน แต่งตั้งคนอย่างนี้ไว้เป็นผู้ปกครองคนพันคนบ้าง ร้อยคนบ้าง ห้าสิบคนบ้าง สิบคนบ้าง ให้เขาพิพากษาความของประชาชนอยู่เสมอ ส่วนคดีใหญ่ๆ ก็ให้เขานำมาแจ้งต่อท่าน แต่คดีเล็กๆน้อยๆให้เขาตัดสินเอง การงานของท่านจะเบาลง และพวกเขาจะแบกภาระร่วมกับท่าน ถ้าทำดังนี้และพระเจ้าทรงบัญชาแล้ว ท่านก็จะสามารถทนได้ ประชาชนทั้งปวงนี้ก็จะไปยังที่อาศัยของเขาด้วยความสงบสุข”
จากข้อความเหล่านี้ คุณลักษณะของคนดีที่เรารอคอยในยุคปัจจุบันก็ไม่ต่างกันคือ
หนึ่ง เราต้องการคนที่มีความสามารถ ทำงานได้ ทำงานเป็น
สอง เราต้องการคนที่ยำเกรงพระเจ้า หรือคนดำเนินชีวิตอยู่ในศีลธรรมที่ดีงาม
สาม เราต้องการคนที่ไว้ใจได้ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ทั้งก่อน และหลังเลือกตั้ง
สี่ เราต้องการคนที่ ไม่กินสินบน ไม่ทุจริต คอรัปชั่น ไม่ฉ้อราษฎร์บังหลวง
ห้า เราต้องการคนที่จะทำให้ประชาชนมีความสงบสุขร่มเย็น สามารถทำงานหาเลี้ยงชีพด้วยความปลอดภัย
ถ้านับข้อดีได้ 5 ข้อก็เลือกได้เลย แม้จะหายากสักหน่อย แต่เรายังมีความเชื่อเสมอว่าประเทศไทยยังไม่สิ้นคนดี เพียงแต่ว่าคนดีคนนั้นจะกล้าออกมาอาสาสมัครเป็นตัวแทนมากน้อยแค่ไหนเท่านั้นเอง เท่าที่มีคนเสนอตัวออกมาบ้างแล้วก็เป็นโอกาสที่จะพิจารณาตามบรรทัดฐานที่นำมาเสนอได้ ขอให้เรามองหาคนดีที่รอคอยคนนั้นต่อไป อย่าคาดหวังให้คนอื่นเป็นคนดีเท่านั้น ตัวเราเองนี่แหละควรเป็นคนดีที่ให้คนอื่นรอคอยได้ด้วย คุณว่าจริงไหมครับ ?



03 มิถุนายน 2554

คนดีที่รอคอย โดย บัณฑิต ดาแว่น

คิดอย่างบัณฑิต โดย บัณฑิต ดาแว่น


คนดีที่รอคอย

สัญญาณการเลือกตั้งครั้งใหญ่เริ่มโหมโรงถี่มากขึ้น ป้ายประกาศตัวลงรับสมัครถูกติดตั้งอย่างมากมาย การประชาสัมพันธ์ทางสื่อต่าง ๆ มีให้ชม ให้ฟัง ให้อ่าน กันทุกวัน แต่ละท่านล้วนแต่ตั้งปณิธานว่าจะรับใช้ประชาชนที่ตนรัก จะทำอย่างนั้นอย่างนี้เพื่อประโยชน์สุขของสังคม และประเทศชาติ ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องที่ดีทั้งนั้น เพียงแต่ขอให้ท่านที่ตั้งใจอย่างนั้นได้ลงมือทำตามที่ประกาศเป็นสัญญาประชาคมอย่างจริงจัง และทำอย่างต่อเนื่อง ทั้งในขณะที่มีตำแหน่งและไม่มีตำแหน่งเท่านั้นเอง เชื่อว่าหากแต่ละท่านได้ทำตามที่คิดไว้แม้เพียงคนละนิดละหน่อยเท่านั้น ก็จะทำให้ประชาชนสังคม ประเทศชาติเจริญรุ่งเรืองอย่างแน่นอน


ขณะนี้ประชาชนกำลังรอคอยคนดีที่ขันอาสามาเป็นตัวแทนของตนเองอยู่ และถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีในการพิจารณาคัดสรรค์คนที่เหมาะสมที่สุด เพื่อให้เขาคนนั้นเป็นกระบอกเสียงแทนในสภาต่อไป แล้วเราจะมีมาตรฐานมาวัดความเป็นคนดีได้อย่างไรละ จึงขอนำบรรทัดฐานที่ดีในอดีตมานำเสนอเพื่อเป็นหลักพิจารณาเลือกคนดีที่รอคอยคนนั้นเข้าสภา เริ่มย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 4 พันปีก่อน ท่านโมเสสได้คัดเลือกตัวแทนของประชาชนเพื่อเป็นผู้นำคนกลุ่มละสิบคนบ้าง ห้าสิบคนบ้าง ร้อยคนบ้าง พันคนบ้าง ตามคำแนะนำของท่านเยโธรผู้เป็นพ่อตา ดังที่มีการบันทึกเรื่องราวไว้หนังสืออพยพดังนี้…


วันรุ่งขึ้น โมเสสออกนั่งพิจารณาพิพากษา ความให้ประชาชน พวกเขายืนห้อมล้อมโมเสสตั้งแต่เช้าจนเย็น เมื่อพ่อตาของโมเสสเห็นงานที่โมเสสกระทำเพื่อ ประชาชนเช่นนั้น จึงกล่าวว่า “นี่ท่านใช้วิธีอะไรปฏิบัติกับประชาชนเล่า เหตุไรท่านจึงนั่งทำงานอยู่แต่ผู้เดียว และประชาชนทั้งปวงก็ยืนล้อมท่านตั้งแต่เช้าจนเย็น” โมเสสจึงตอบพ่อตาว่า “เพราะประชาชนมาหาข้าพเจ้า เพื่อขอให้ทูลถามพระเจ้า เมื่อเขามีการโต้เถียงกันก็มาหาข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็ตัดสินความระหว่างเขากับเพื่อนบ้าน สอนเขาให้รู้จักกฎเกณฑ์ของพระเจ้าและ ข้อตัดสินของพระองค์” ฝ่ายพ่อตาของโมเสสจึงกล่าวแก่ท่านว่า “ท่านทำอย่างนี้ไม่ดี ทั้งท่านและประชาชนที่มาหาท่านนั้นคงจะอ่อนระอาใจ เพราะภาระอันหนักนี้เหลือกำลังของท่าน ท่านไม่สามารถที่จะทำแต่ผู้เดียวได้ ฟังเราบ้าง เราจะให้คำแนะนำแก่ท่าน และขอให้พระเจ้าทรงสถิตอยู่กับท่าน ท่านจงเป็นผู้แทนของประชาชนต่อพระเจ้า นำความกราบทูลพระเจ้า ท่านจงสั่งสอนเขาให้รู้กฎเกณฑ์ และข้อตัดสินและแสดงให้เขารู้จักทางที่เขาต้องดำเนิน ชีวิตและสิ่งที่ต้องปฏิบัติ ยิ่งกว่านั้น ท่านจงเลือกคนที่สามารถจากพวกประชาชน คือคนที่ยำเกรงพระเจ้า ไว้ใจได้ และไม่กินสินบน แต่งตั้งคนอย่างนี้ไว้เป็นผู้ปกครองคนพันคนบ้าง ร้อยคนบ้าง ห้าสิบคนบ้าง สิบคนบ้าง…


จากข้อความเหล่านี้ สิ่งที่ได้รับข้อคิดคือ เราจำเป็นต้องมีตัวแทน เพื่อเข้าไปจัดการงานต่าง ๆ แทนเรา และให้เราเข้าใจว่า คนนั้นต้องไปเป็นตัวแทนจากประชาชน ไม่ใช่ไปเป็นเจ้านายประชาชน ถ้าเราเริ่มต้นเข้าใจว่าคนดีที่กำลังรอคอยนั้น ปรารถนาจะเป็นตัวแทนของเรา ก็สามารถพิจารณาเลือกเขาคนนั้นต่อไปได้ ส่วนคนดีนั้นจะมีคุณลักษณะอย่างไรบ้าง ...ติดตามตอนต่อไป




วันนี้คุณมองเห็นคนดีที่รอคอยคนนั้น

ที่พร้อมจะเป็นตัวแทนของประชาชนแล้วหรือยัง ?